อินไซด์สนามข่าว : รูรั่ว-ปัญหาบัตรสวัสดิการฯ ที่รัฐมองไม่เห็น

17 ธ.ค. 2561 | 13:50 น.
รูรั่ว-3 ประยุทธ์นิยม-5 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินสายไปทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนา เกษตรกร รวดเดียว 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ สุรินทร์ เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา เป็นการเดินสายทำข่าวในช่วงจังหวะที่รัฐบาล “ซานต้าลุงตู่” มีมติจัดหนัก ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่องกันพอดีโดยไม่ได้นัดหมาย ทั้งช็อปช่วยชาติ แพ็กเกจของขวัญปีใหม่รายกระทรวง รวมไปถึงแพ็กเกจให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เรียกว่าแจกไม่อั้นกันเลยทีเดียว

ทำให้มีประเด็นที่ชาวบ้านและเกษตรกรเขาหยิบยกนำมาสนทนากับผมหลังไมค์ ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผมขมวดได้ 4 ประเด็นที่น่าสนใจ

เรื่องแรก เป็นปัญหาของร้านค้าในชุมชน ที่กว่าจะผ่านด่านกระทรวงพาณิชย์ได้สัญลักษณ์เป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ หลายแห่งต้องชื่นชมในการควบคุมมาตรฐาน แต่บางแห่งตั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสูง เมื่อเทียบกับการซื้อในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าทั่วไปที่มีโปรโมชันให้เลือก

แต่แน่นอนชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก เพราะตอนนั้นยังไม่สามารถใช้บัตรในห้างได้เหมือนทุกวันนี้ แต่ลองนึกถึงพื้นที่ไกลๆที่ไม่มีห้าง ชาวบ้านก็คงต้องก้มหน้ายอมรับสภาพกับราคาสินค้าที่เจ้าของเขาตั้ง

[caption id="attachment_362480" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

เรื่องที่ 2 ยังไม่พ้นร้านธงฟ้า แต่กลับเป็นมุมมองของร้านธงฟ้าในชุมชนเองที่บ่นให้ฟัง กับการที่รัฐบาลเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยนำบัตรไปใช้รูดซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างค้าปลีกรายใหญ่ แน่นอนบ้านใครใกล้ห้างก็ไปห้างกันหมด เพราะความหลากหลายของสินค้า ราคาที่ถูกกว่า แถมมีโปรโมชันที่ร้านค้าชุมชนมิอาจจะสู้ได้

แต่ทว่าร้านค้าที่สะท้อนปัญหาเป็นร้านธงฟ้าที่เป็นในรูปแบบสหกรณ์ในชุมชน ที่ผลกำไรจะเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกซึ่งเป็นคนในชุมชนเมื่อถึงวงรอบ ร้านประเภทนี้ก็จะถูกห้างใหญ่ดึงลูกค้ากลุ่มบัตรสวัสดิการฯไปในทันที

เรื่องที่ 3 คงเป็นปัญหาที่หลายจังหวัดเจอ คือ ร้านค้าหัวใส เปิดช่องทางให้รูดซื้อสินค้าแบบไม่ต้องเอาสินค้ากลับบ้านไป แต่กลับจ่ายเป็นเงินสดกลับไปแทนในวงเงินที่ตํ่ากว่าบัตร อย่างเช่น คุณลุง ก. ได้วงเงินซื้อสินค้า 300 บาท/เดือน  แต่อยากได้เงินสดมากกว่า ก็ยอมไปรูดซื้อสินค้าในร้านค้า 300 บาทเต็มวงเงิน แต่ได้เงินสดกลับบ้านไป 200-250 บาท  แทนการนำสินค้ากลับบ้าน เหลือ 50-100 บาท ให้ส่วนต่างที่เหลือเป็นกำไรของร้านค้านำไปบริหารจัดการเอง
ประยุทธ์นิยม-6 และเรื่องที่ 4 คือ “จนไม่จริง” หรือคนมีรายได้ดีแต่กลับได้รับบัตรสวัสดิการ เพราะชาวบ้านมองว่ารัฐบาลอาจจะดูเพียงการกรอกรายได้ในเอกสารของคนที่ลงทะเบียน ที่มีเส้นแบ่งคือ มากกว่า 30,000 บาทต่อปี และน้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี

ทั้งที่ความเป็นจริงของบางคน คือเป็นที่รู้ดีว่าเป็นคนมีฐานะในพื้นที่ มีรายได้เกินเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อย เพียงแต่ไม่มีการจ่ายและรับเงินผ่านระบบธนาคาร ไม่อยู่ในระบบฐานภาษี จึงมิอาจพิสูจน์ทราบได้ว่ามีรายได้น้อยหรือมีอันจะกินกันแน่ ซึ่งก็เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังจะหามาตรการมากรองตรงนี้อยู่

เชื่อว่าทั้ง 4 เรื่องที่เขียนมา รัฐบาลคงจะพอรับทราบปัญหาบ้างในบางส่วน และหาทางอุดรูรั่วเหล่านี้อยู่ เพื่อให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าเป้าตามที่ต้องการ
ประยุทธ์นิยม-2 ประยุทธ์นิยม-3 | คอลัมน์ : อินไซด์สนามข่าว 
| โดย : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3426 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 13-15 ธ.ค.2561
595959859