ทุ่ม 4.6 พันล้าน! ผุด 3 โปรเจ็กต์ ปั้นคนการบิน

14 ธ.ค. 2561 | 06:45 น.
141261-1337

สบพ. ผุด 3 โครงการ ค่า 4.6 พันล้านบาท สร้างศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศ สนามบินอู่ตะเภา ผลิตช่างป้อน MRO "ทีจี-แอร์บัส" เปิด PPP พัฒนาศูนย์ฝึกนักบินหัวหิน ทาบ "การบินไทย-บางกอกแอร์เวย์ส" ร่วมลงทุน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอากาศยานที่จดทะเบียนสำหรับประกอบกิจการเชิงพาณิชย์กว่า 314 ลำ ในปี 2560 และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 811 ลำ ในปี 2580 ทั้งจากการคาดการณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอย่าง แอร์บัส, โบอิ้ง ก็คาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการส่งมอบอากาศยานใหม่กว่า 3.52 หมื่นลำ ส่วนใหญ่กว่า 1.28 หมื่นลำ เป็นคำสั่งซื้อจากภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการบินไทยยังจะร่วมลงทุนกับแอร์บัสในการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ (MRO) สนามบินอู่ตะเภา ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


MP22-3324-1A

นี่เองจึงทำให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตบุคลากรด้านนี้ของประเทศ จึงอยู่ระหว่างขยายการลงทุนกว่า 4.6 พันล้านบาท ในช่วง 3 ปีนี้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจการบินและ MRO ที่กำลังจะเกิดขึ้น


139074

พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า สบพ. อยู่ระหว่างขยายการลงทุนใน 3 โครงการ เพื่อผลิตบุคลากรด้านการบินของประเทศ ได้แก่ โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน (ช่างไลเซนส์) ป้อนโครงการ MRO ของการบินไทยและแอร์บัส ที่จะเกิดขึ้นในสนามบินอู่ตะเภา และป้อนโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 2.โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกนักบินที่ อ.หัวหิน และ 3.โครงการก่อสร้างอาคารเรียนสูง 18 ชั้น ที่ สบพ. เขตจตุจักร กรุงเทพฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จใจปี 2564

การลงทุนที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตนักศึกษาด้านการบิน จาก 3.7 พันคนต่อปี เป็น 5 พันคนต่อปี ภายในปี 2564 และ สบพ. อยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ จากปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อยู่แล้ว ก็จะเพิ่มเติมหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะการผลิตช่างอากาศยาน ที่จะเพิ่มการรับรองหลักสูตร จากองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) มาอีกหนึ่งการรับรองด้วย

 

[caption id="attachment_361179" align="aligncenter" width="335"] พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)[/caption]

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ที่สนามบินอู่ตะเภา สบพ. ได้รับการจัดสรรพื้นที่ราว 200 ไร่ โดยก่อนหน้านี้ ภาครัฐมีนโยบายจะเปิดให้เอกชนมาร่วมพัฒนาในลักษณะ PPP แต่จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน พบว่า มาร์จินต่ำ ดังนั้น การลงทุนในเฟสแรกของโครงการนี้จึงเป็นการลงทุนโดยภาครัฐในการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว ลงทุนราว 2 พันล้านบาท และการเปิดหลักสูตรเบสิก เทรนนิ่ง

ในขณะนี้ สบพ. ได้ทยอยส่งอาจารย์ไปเรียนกับแอร์บัสแล้ว ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ สิงคโปร์ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบด้านการอบรมมาแล้ว 122 ล้านบาท และเป็นงบประมาณของ สบพ. เองอีก 50 ล้านบาท คาดว่า ศูนย์แห่งนี้จะเปิดให้บริการในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามแผนการเปิด MRO ของการบินไทยและแอร์บัส ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 สามารถผลิตช่างซ่อมอากาศยานได้ราว 300-400 คนต่อปี

 

[caption id="attachment_361180" align="aligncenter" width="503"] ©StockSnap ©StockSnap[/caption]

หลังการเปิดให้บริการในเฟสแรกแล้ว สบพ. ก็มองว่า โครงการนี้ยังมีโอกาสในเฟส 2 ที่จะดึงเอกชนมาร่วมลงทุนการพัฒนาหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานเฉพาะแบบที่เป็นขั้นแอดวานซ์ ซึ่งเป็นไปในลักษณะการทำเทรนนิ่งเชิงธุรกิจ ที่จะก่อให้เกิดกำไร โดยเบื้องต้น ทางแอร์บัสก็เสนอความสนใจที่จะทำ PPP ในเฟส 2 ร่วมกับ สบพ.

นอกจากนี้ ในส่วนของศูนย์ฝึกนักบินหัวหิน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 57 ไร่ และด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่อยู่ริมถนนเพชรเกษม ตรงข้ามสนามบินหัวหิน และติดสถานีรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น ทำให้ สบพ. มองโอกาสที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ในลักษณะ PPP ซึ่งได้มีการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งแล้ว ในการเปิดให้มาร่วมลงทุนใน 6 จุด อาทิ ที่พักศิษย์การบิน ศูนย์ประชุม พื้นที่เชิงธุรกิจ ศูนย์ฝึกบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดเล็ก

"เราอยากให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ ที่อยากให้เกิดคู่สัญญาเชิงธุรกิจที่เป็นคนไทยก่อน จึงได้เสนอแนวคิดนี้ให้กับการบินไทยและบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ส ไปแล้ว โดยเบื้องต้น บางกอกแอร์เวย์สก็แสดงความสนใจ ที่ก็มีการหารือร่วมกันหลายแนวทาง เช่น การส่งบุคลากรมาเรียนกับ สบพ. หรือจะมาทำ PPP ร่วมกัน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง แทนที่บางกอกแอร์เวย์ส มีแผนจะเปิดศูนย์ซ่อมที่ จ.สุโขทัย ที่ต้องลงทุนสูง แต่ไม่ว่าการทำ PPP จะเกิดหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างไรก็ตาม สบพ. ก็มีแผนจะพัฒนาศูนย์ฝึกนักบินที่นี่อยู่แล้ว เพื่อเพิ่มมูลค่าในการลงทุนและผลิตนักบินเพิ่มจาก 80-100 คนต่อปี เป็น 150-160 คนต่อปี" ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวทิ้งท้าย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,426 วันที่ 13 - 15 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ICAO เผย "3 ภัยเสี่ยง" คุกคามธุรกิจการบิน
การบินไทยขายบัตรของขวัญ THAI Gift Voucher รับเทศกาลปีใหม่


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว