เอาแล้ว! 'แอปเปิ้ล' งานเข้า ศาลจีนสั่งห้ามขาย 'ไอโฟน' เกมโต้กลับกรณีจับ "CFO หัวเว่ย" เริ่มยก 1

11 ธ.ค. 2561 | 08:18 น.
หลังจากที่ทางการแคนาดาได้จับกุมตัว นางเมิ่ง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนของจีน ที่เมืองแวนคูเวอร์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา และพร้อมจะส่งตัวเธอให้ทางการสหรัฐอเมริกา ตามหมายจับของสหรัฐฯ ที่ออกเมื่อเดือน ส.ค. 2561 ด้วยข้อกล่าวหากระทำทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน

'เมิ่ง' วัย 46 ปี เป็นบุตรสาวของ นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท หัวเว่ยฯ ถูกจับกุมขณะรอเปลี่ยนเครื่องบินที่เมืองแวนคูเวอร์ หลังจากถูกจับกุมและขึ้นศาลที่แคนาดา เมื่อวันที่ 7 และ 10 ธ.ค. เธอจะถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยศาลแคนาดายังไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างรอการส่งมอบผู้ต้องหา ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีเวลา 60 วัน ในการทำเรื่องอย่างเป็นทางการขอให้แคนาดาส่งมอบตัวผู้ต้องหาให้แก่สหรัฐฯ โดยผู้พิพากษาของแคนาดาจะเป็นผู้ตัดสินว่า ข้อกล่าวหามีน้ำหนักมากพอหรือไม่ จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรียุติธรรมของแคนาดาที่จะออกคำสั่งเนรเทศเมิ่ง (ไปยังสหรัฐฯ) หรือไม่


Meng

เมิ่ง หวันโจว ซึ่งมีอีก 2 ชื่อ ที่ใช้ในต่างประเทศ คือ 'เคธี' และ 'ซาบรีนา' ถูกกล่าวหาว่า ปกปิดการกระทำทุจริตผ่านทาง บริษัท สกายคอม (Skycom) ในเครือหัวเว่ย เพื่อเบี่ยงเบนและหลบเลี่ยงการตรวจสอบของสถาบันทางการเงิน และพยายามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ แม้ว่าทางการจีนจะเรียกร้องให้แคนาดาปล่อยตัวเมิ่งในทันทีและเรียกเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และแคนาดาเข้าพบ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อัยการฝ่ายสหรัฐฯ ระบุว่า เมิ่งไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ธนาคารที่สอบถามเธอเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง บริษัท สกายคอม และบริษัท หัวเว่ย ถ้าหากถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ เมิ่งจะถูกตั้งข้อหามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งโทษสูงสุดนั้น คือ การจำคุก 30 ปี สำหรับแต่ละข้อหา


ย้อนปมหมกเม็ดขายสินค้าให้อิหร่าน
ย้อนไปในปี 2556 มีรายงานข่าวว่า หัวเว่ยนั้นมีสายสัมพันธ์โยงใยใกล้ชิดกับ บริษัท สกายคอม เทค จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง และจากการตรวจสอบพบว่า สกายคอมได้พยายามที่จะขายอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นการขัดต่อมติของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่คว่ำบาตรอิหร่านในเวลานั้น

จากข้อมูลการจดทะเบียนการค้าในฮ่องกง พบว่า เมิ่ง หวันโจว มีชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร บริษัท สกายคอม ระหว่างเดือน ก.พ. 2551 ถึงเดือน เม.ย. 2552 นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการทั้งในอดีตและปัจจุบันของ บริษัท สกายคอม ยังมีสายสัมพันธ์โยงใยกับ บริษัท หัวเว่ย อีกด้วย ในเดือน ม.ค. 2556 มีรายงานข่าวครั้งแรก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า สกายคอมซึ่งมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน พยายามละเมิดมติการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ด้วยการส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยี่ห้อฮิวเลตต์-แพคการ์ด ที่ผลิตในสหรัฐฯ ส่งมอบให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในอิหร่าน ทางการสหรัฐฯ ได้ติดตามความเชื่อมโยงระหว่างสกายคอมกับหัวเว่ยมาโดยตลอด กระทั่งมาถึงการออกหมายจับ เมิ่ง หวันโจว เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
epa03963357 An Iranian woman talks on her mobile phone at a street in Tehran, Iran, 24 November 2013. Iran and six world powers agreed to a deal that limits its nuclear programme Sunday in Geneva, achieving a first diplomatic breakthrough since Tehran

"การตรวจสอบพบว่า สกายคอมได้พยายามที่จะขายอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังประเทศอิหร่าน ขัดต่อมติของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่คว่ำบาตรอิหร่านในเวลานั้น"

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกโรงประนามการจับกุมตัวผู้บริหารของหัวเว่ย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแคนาดาและสหรัฐฯ ว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพิกเฉยละเลยต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุผล และ "น่ารังเกียจอย่างที่สุด" พร้อมทั้งออกแถลงว่า "จีนเรียกร้องอย่างแรงกล้าให้แคนาดาปล่อยบุคคลผู้ถูกคุมขังนี้ในทันที และให้ความคุ้มครองอย่างจริงจังแก่สิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายอันชอบธรรม ไม่เช่นนั้น แคนาดาจะต้องแบกรับความรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับผลต่อเนื่องอันสาหัสร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นมาจากเรื่องนี้"

แต่ฝ่ายการเมืองของสหรัฐฯ กลับมองย้อนศร แม้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังคงสงวนท่าทีและไม่ออกความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้ แต่นายเบ็น แซสซี วุฒิสมาชิกคนหนึ่งของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความชื่นชมยินดีกับการร่วมมือจับกุมตัวผู้บริหารหัวเว่ยในครั้งนี้ "บางครั้งพฤติกรรมก้าวร้าวของจีนก็ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาล และบ่อยครั้งมันก็ถูกแปลงร่างมาในรูปของสิ่งที่จีนเรียกว่า ภาคเอกชน"




xiandtrump
"การจับกุมผู้บริหารหัวเว่ยเป็น "ฟ้าผ่ากลางวันแสก ๆ" สำหรับทุกฝ่ายที่รอเห็นการเจรจาสงบศึก"

แน่นอนว่า กรณีของหัวเว่ยจะยิ่งสร้างความแตกแยกร้าวลึกให้กับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่เปราะบางอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ ความไม่แน่นอนและสิ่งที่ยากจะคาดเดาไม่เป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดเงินและตลาดทุนโลก ยิ่งสหรัฐฯ และจีนกำลังตั้งลำจะกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า หลังการพบปะระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นอกรอบการประชุม G20 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา การจับกุมผู้บริหารหัวเว่ยกลับกลายเป็น "ฟ้าผ่ากลางวันแสก ๆ" สำหรับทุกฝ่ายที่รอเห็นการเจรจาสงบศึก สถานการณ์ยิ่งคุกรุ่นมากขึ้น เมื่อพันธมิตรของสหรัฐฯ เริ่มจากอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ทยอยประกาศยกเลิกการใช้ รวมถึงการสั่งซื้ออุปกรณ์ของหัวเว่ยเพื่อนำมาใช้ในส่วนงานของรัฐบาล เช่น กรณีของอังกฤษ บริษัท บีที กรุ๊ป อดีตรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของอังกฤษ ปัจจุบันเป็นบริษัทมหาชน ได้ประกาศยกเลิกการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในเครือข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G ของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอนาคตก็จะไม่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในระบบหลักของเครือข่าย ขณะที่ อีก 3 ประเทศพันธมิตร ก็มีท่าทีในทิศทางเดียวกัน นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์จีน รวมถึงอดีตทูตแคนาดาประจำกรุงปักกิ่ง ได้ออกโรงเตือนว่า จีนต้องตอบโต้กลับทั้งสหรัฐฯ และแคนาดาอย่างแน่นอน และบรรยากาศเช่นนี้ไม่เป็นผลดีแน่ ๆ ขณะที่ สื่อจีนเองรวมทั้งโลกโซเชียลมีเดียมีการออกมาเรียกร้องให้ชาวจีนต่อต้านสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ แล้วหันมาใช้สินค้าของจีนเอง เพื่อเป็นการ "มอบบทเรียน" ให้กับผู้นำสหรัฐฯ


การทวงคืนยกแรก หวยมาออกที่แอปเปิ้ล!
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เกี่ยวพันกันมากน้อยเพียงใด แต่ช่วงเวลาของเรื่องนี้ถือว่า "ลงจังหวะ" กับสถานการณ์ร้อนแรงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในกรณีของหัวเว่ยเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลเมืองฝูโจวของจีนมีคำตัดสินให้ บริษัท ควอลคอม อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่สำหรับสมาร์ทโฟน ชนะคดีฟ้องร้อง บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ กรณีละเมิดสิทธิบัตรของควอลคอม


iphone-4s-banned

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้บริษัทในเครือของแอปเปิ้ล 4 บริษัทในประเทศจีน ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 'ไอโฟน' บางรุ่น โดยศาลระบุว่า แอปเปิ้ล ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ละเมิดสิทธิบัตร 2 ฉบับ ของบริษัท ควอลคอม ในการทำให้ผู้ใช้สามารถปรับขนาดภาพและจัดการแอพพลิเคชั่นโดยการใช้จอระบบสัมผัส หรือ ทัชสกรีน นั่นหมายถึง บริษัทในเครือแอปเปิ้ลทั้ง 4 แห่งในจีน ต้องยุติการจำหน่ายไอโฟน 6S, ไอโฟน 6S Plus, ไอโฟน 7, ไอโฟน 7 Plus, ไอโฟน 8, ไอโฟน 8 Plus และไอโฟน X  เป็นการชั่วคราว นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกรณีพิพาทจากสิทธิบัตรและค่าลิขสิทธิ์ของ 2 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน และก็เป็นสัญญาณว่า การเอาคืน หรือ แก้แค้นสหรัฐอเมริกายกแรกของฝ่ายจีนได้เริ่มขึ้นแล้ว

ผู้บริหารของแอปเปิ้ลออกมาให้ข้อมูลว่า คำสั่งของศาลจีนมีผลบังคับใช้กับไอโฟนรุ่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบเก่า แต่ขณะนี้ไอโฟนหลายรุ่นที่มีการจำหน่ายในตลาดทั่วโลก ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ iOS 12 ซึ่งไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของควอลคอม ผลกระทบต่อบริษัทจึงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ไอโฟนรุ่นที่ถูกห้ามนำเข้าและจำหน่ายตามคำสั่งศาลนั้น ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10-15% ของยอดขายไอโฟนทั้งหมดในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดโลกในแง่ยอดขาย และแอปเปิ้ลก็ทำรายได้ 1 ใน 5 ของทั้งหมดจากตลาดประเทศจีน

595959859-6-503x60

090861-1927-9-335x503-335x503-2-335x503