ถอดโมเดล ซี.พี.เวียดนาม ความสำเร็จธุรกิจควบคู่ดูแลสังคม

14 ธ.ค. 2561 | 08:18 น.
| รายงาน : ชาญวิทย์ อินยันญะ


……………….

เวียดนาม เป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปลงทุนและมีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ในนาม บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บจก.) โอกาสครบรอบ 25 ปีของการทำธุรกิจในเวียดนาม ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานระหว่าง วันที่ 4-7 ธ.ค. ที่ผ่านมา


3 ไฮไลต์หลัก
ไฮไลต์ในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของ ซี.พี.ฮานอย ฟู้ด โพรเซสซิ่ง แฟคตอรี่ ซึ่งมีกำลังผลิตไก่ 3 หมื่นตัว/วัน โดยสัดส่วน 70% ขายเป็นไก่สด และอีก 30% นำมาแปรรูปเป็นไส้กรอก ขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านค้าทั่วไป (โชวห่วย) ในเวียดนาม ซึ่งในปีหน้าจะขยายการผลิตเป็น 4 หมื่นตัว/วัน ถัดมาได้เข้าเยี่ยมชมกิจการโรงงานอาหารสัตว์ ณ จ.หายเยือง ทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็น 1 ใน 10 โรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยที่สุดของ ซี.พี.เวียดนาม ควบคุมการผลิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กำลังผลิต 6 หมื่นตัน/เดือน หรือประมาณ 7.4 แสนตัน/ปี โดยสัดส่วน 60% ผลิตเป็นอาหารสุกร อีก 15% เป็นอาหารไก่และเป็ด ที่เหลือเป็นอาหารวัว นกกระทา และอื่น ๆ

อีกไฮไลต์ คือ การเข้าร่วมพิธีรับเหรียญเกียรติคุณแห่งชาติ ด้านแรงงานชั้นตรี ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติเวียดนาม มี ฯพณฯ Dang Thi Ngoc Thinh รองประธานาธิบดีเวียดนาม เป็นประธาน จาก ซี.พี.เวียดนาม มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตร ปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าในชนบท ช่วยให้ชาวเวียดนามมีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามให้เติบโตอย่างรวดเร็ว


ซีพีเวียดนาม1

เปิดอาณาจักร ซี.พี.เวียดนาม
สำหรับ ซี.พี.เวียดนาม เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่เข้าไปประกอบธุรกิจเกษตรตามคำเชิญของรัฐบาลเวียดนาม ปัจจุบันมีธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารมนุษย์ (Feed-Farm-Food) ครอบคลุมทั้งธุรกิจสัตว์บกและธุรกิจสัตว์นํ้า ซึ่ง 25 ปีที่ผ่านมา ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น มีการลงทุนในเวียดนามแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยในธุรกิจสัตว์บก มีโรงงานอาหารสัตว์บก 7 แห่ง มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์บก ประกอบด้วย ฟาร์มสุกร (กำลังผลิตสุกรขุน 6.5 ล้านตัว/ปี มีคอนแทร็กต์ฟาร์ม 2,410 ราย) ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ (กำลังผลิต 66 ล้านตัว/ปี) มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่และฟาร์มเป็ดเนื้อ ทั้งของบริษัทเองและของคอนแทร็กต์ฟาร์มกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในธุรกิจสัตว์นํ้า มีโรงงานอาหาร สัตว์นํ้า 3 แห่ง มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์นํ้า ประกอบด้วย ฟาร์มเลี้ยงปลาแพนกาเซียสดอร์รี่และฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และมีโรงงานแปรรูปสัตว์นํ้า 2 แห่ง เพื่อส่งออกต่างประเทศ และธุรกิจอาหารสำเร็จรูป มีโรงงานอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอกและอาหารสำเร็จรูป 3 แห่ง มีธุรกิจค้าปลีก เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท และธุรกิจอาหาร เช่น ห้าดาว


ซีพีเวียดนาม2

ขยายลงทุนต่อเนื่อง
นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บจก.ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามเป็นฐานการผลิตนอกประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน การลงทุนและการทำตลาดในเวียดนามยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จากการเมืองเสถียรภาพ นโยบายต่อเนื่อง และเวียดนามยังเป็นสมาชิกระหว่างประเทศหลายเวทีที่นักลงทุนสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกได้ เช่น AEC, APEC, WTO, CPTPP และ EVFTA นอกจากนี้ ประชากรของเวียดนามมีถึง 97 ล้านคน เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปี ถือเป็นคนรุ่นใหม่และอยู่ในวัยแรงงานมีกำลังซื้อสูง ขณะเศรษฐกิจ (จีดีพี) เวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี

ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนขยายการลงทุนในเวียดนามต่อเนื่อง ล่าสุด มีโครงการเลี้ยงไก่แปรรูปครบวงจรเพื่อการส่งออกเป็นบริษัทแรก และจะเป็นครั้งแรกของประเทศเวียดนาม ที่ จ.บิ่นห์เฟื้อก ทางตอนใต้ของเวียดนาม จะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายส่งออกไปญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง


TP9-3426-A

นอกจากนี้ จะตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อสุกรเพื่อส่งออกอีก 1 โรงที่ฮานอย ใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้ง 2 โรงงานข้างต้น จะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตส่งออกได้ไม่เกินกลางปี 2563 รวมถึงจะมีการขยายกำลังผลิตลูกกุ้งจาก 1.2 หมื่นล้านตัว เพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านตัว/ปี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนาม ที่ประกาศจะผลักดันเพิ่มผลผลิตกุ้งให้ได้ 1 ล้านตันต่อปี ในปี 2568 เพื่อเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ซี.พี. มีเป้าหมายเข้าไปมีส่วนร่วม 5 แสนตัน หรือครึ่งหนึ่ง


หลากปัจจัยดันผงาด
จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ พอจะสรุปปัจจัยความสำเร็จของ ซี.พี.เวียดนาม ได้หลายประการ ที่สำคัญนอกจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของชาวเวียดนามที่กำลังขยายตัวต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นผลจากการนำโมเดล Feed-Farm-Food ที่ประสบความสำเร็จจากในไทย ไปต่อยอดขยายธุรกิจในเวียดนาม มีการทำเกษตรและปศุสัตว์ในระบบเกษตรพันธสัญญา (คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง) แบบปีต่อปี มีข้อตกลงราคารับซื้อที่แน่นอน ช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยง ผสานกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ได้ใจชาวเวียดนามอย่างมาก อาทิ กิจกรรมบริจาคโลหิต ที่ ซี.พี.เวียดนาม เป็นผู้รณรงค์ ซึ่งได้สร้างประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขของเวียดนามอย่างมาก นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อนพนักงานช่วยเหลือเพื่อนพนักงานดูแลซึ่งกันและกัน มีโครงการหน่วยแพทย์อาสา ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาที่ยากไร้ เป็นต้น

และที่ถือเป็นคีย์ซักเซสสูงสุด คือ บริษัทให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้พนักงานชาวเวียดนามของบริษัทที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพและความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้จะนำพา ซี.พี.เวียดนาม สู่ความยั่งยืน

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,426 วันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

บาร์ไลน์ฐาน-16