“ธีรยุทธ”ชี้คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจ

10 ธ.ค. 2561 | 07:49 น.
‘ธีรยุทธ’ชี้‘ทุนใหญ่’มีอำนาจควบคุมการเมือง-ชีวิตประจำวันประชาชน ติงคสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจ เชื่อ‘ปชป.-พท.’เลิกวาทกรรมขัดแย้ง

ออออ

นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถา “45 ปี 14 ตุลา” ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 ถนนราชดำเนิน
นายธีระยุทธ กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาในทุกระดับมีคุณภาพลดลงอย่างน่าใจหาย การทุจริตคอร์รัปชันลามลงสู่รากหญ้า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก่อตัวและขยายตัวมีอำนาจผูกขาดในทางเศรษฐกิจได้เกือบเด็ดขาด ที่สำคัญ คือสามารถสะกดเสียงไม่ให้ผู้ต่อต้านคัดค้าน หากกลุ่มทุนใหญ่ต้องการขยายกิจการที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป และสามารถควบคุมทุกมิติของเศรษฐกิจและทุกจังหวะชีวิตของคนไทย จนมีพฤติกรรมคล้ายๆ กับที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก่ซีพี’ เนื่องจากถูกป้อนอาหารตามชนิดและขนาดเป็นเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถูกเชือด ดังนั้นขอตั้งชื่อคนไทยในอนาคตว่า ‘คนไทยซีพี’ ซึ่งน่าจะให้ภาพใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมืองชัดเจน
นายธีรยุทธ ชี้ว่า นโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อดีในส่วนของการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและภาคสังคม ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีการพัฒนาระบบ E – Government แต่ก็มีข้อวิจารณ์หลายส่วน เช่น ไม่มีการปรับกระบวนทัศน์ให้สังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดเศรษฐกิจความรู้ ประเทศที่เป็นแถวหน้าทางเศรษฐกิจ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

ความรู้ด้าน 4.0 ยังไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยยังขาดหลายส่วน เช่น ทรัพยากรบุคคล นวัตกรรม การค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ล้วนอยู่ในขั้นต่ำทั้งสิ้น ดังนั้น ตนเห็นว่า คำขวัญที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่า ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว’ นั้น ที่จริงแล้วเป็นการก้าวเดินไปเฉพาะอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
ส่วนปัญหาด้านสังคม ขณะนี้คนไทยกำลังจะแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้นครึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีความแตกต่างทางรายได้สูงเป็นลำดับนำของโลก ทำให้คนรวยรวยล้นพ้น ชนชั้นกลางบางส่วนยุบตัวลงไปเป็นชนชั้นล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่พยายามขยายตัวไปขึ้นชั้นบน ซึ่งต้องเปลี่ยนคำขวัญว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน’ คือ ชนชั้นกลางยังมีความแคระแกร็น ต่อมา คอร์รัปชันขยายตัวไปทุกระดับชั้น ขยายวงกว้างไปในทุกวงการ
มองว่าเกิดจากโรคระบาดทางคุณธรรม คือ คนรวยโกงได้ คนชั้นกลาง คนชั้นล่างก็โกงได้ และแรงบีบคั้นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ดังนั้นชนชั้นล่างพยายามกดดันให้ภาครัฐมีนโยบาย ‘ประชานิยม’ ลดแลกแจกแถม ชนชั้นกลาง ต้องการรักษาสถานภาพชีวิตแบบเดิม เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ เช่น กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน กลุ่มเพื่อนในหลักสูตรต่างๆ จนสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูงได้ จนนำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบใหม่ คือ คอร์รัปชันคอนเน็กชั่นในที่สุด

อีกทั้งสังคมไทยยังเกิดปัญหาความยากจนในเรื่องอื่นๆ เช่น การจนทางประวัติศาสตร์ จนทางวัฒนธรรม และจนทางพื้นที่ คือ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร หรือความสามารถในการชื่นชมคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมได้ ดังนั้น เป็นห่วงว่าถ้าในอนาคตเยาวชน ไม่สามารถชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของประเทศทั่วทุกภูมิภาค เพราะฐานะยากจน ค่าเดินทางแพง อยู่ห่างไกล เป็นต้น จะคาดหวังให้เยาวชนเหล่านั้นรักประเทศของเราได้อย่างไร
สำหรับประเด็นการเมือง เห็นว่าเวลานี้มีวิกฤตการเมืองใหม่ คือ ‘วิกฤตที่เกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง’ โดยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาในช่วงบ้านเมืองวุ่นวาย มีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่เกิดขึ้นประมาณ 10 กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจสำคัญๆ ไว้ได้เกือบทั้งหมด และมักจะเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมืองจนเกิดศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า การปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อยคือทุนอิทธิพล โดยสามารถโน้มน้าว จูงใจ หรือบังคับให้รัฐ พรรคการเมือง ข้าราชการ สื่อ สังคม คล้อยตามได้
“ผมเห็นว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะเป็นผู้ร่าง มาเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบัน โดยให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯ เพิ่มทั้งจำนวนและอำนาจของ ส.ว. โดยมี 250 คน และให้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การดึงกลุ่มการเมือง ‘ยี้-มาร’ มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่สนเสียงวิจารณ์ ถือเป็นการการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ คงจะจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนเรื่อยๆ คสช.ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ ซึ่งพฤติกรรมก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง ดังนั้นโดยรวมแล้ว การเลือกตั้งในปี 2562 ก็คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายกับการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งพรรคของคุณทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดามาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้นโยบายประชานิยม ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ซึ่งดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐบ่งชี้ว่าจะซ้ำรอยเหมือนกับพรรคคุณทักษิณ เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ชนะ แต่ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาลฯจะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่ต้น” นายธีรยุทธ กล่าว
และว่า ความขัดแย้ง “เหลือง-แดง” “นปช.-กปปส.” ในปัจจุบันถือว่าเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปตามสภาพเหมือนเดิมได้ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้า คาดว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และพรรคเพื่อไทย(พท.) จะไม่มีใครใช้วาทกรรมและนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง แต่จะต้องหาแง่มุมในการวิจารณ์ผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช.
นายธีรยุทธ ระบุว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยแตกออกเป็นหลายพรรคย่อย ซึ่งควรส่งผลทางโครงสร้างการเมืองที่ดีขึ้น คือมีกลุ่มการเมืองที่มีการตัดสินใจเป็นอิสระมากขึ้น การขึ้นกับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง ถ้าพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และทุกพรรค พัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่เห็นส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย เว้นวาทกรรมแบบเกลียดชังสุดขั้ว ก็จะทำให้การเลือกตั้งคราวหน้าเดินไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งถ้าทำโดยร่วมกันแสดงเหตุผลที่เหนือกว่า ก็อาจจะทำได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเผชิญหน้าแบบรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก