กกต. จ่อถกปม "บัตรเลือกตั้ง" ติงอย่ามองเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว

09 ธ.ค. 2561 | 07:38 น.
กกต. ชี้! พปชร. จัดระดมทุนได้ หาก คสช. ปลดล็อกแล้ว เผย เตรียมนำทุกความเห็น ทุกปัจจัย ปมบัตรเลือกตั้ง เสนอ กกต. พิจารณา ติงไม่อยากให้มองเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า แม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะกำหนดเรื่องการคิดค่าใช้จ่ายเรื่องการหาเสียง หลังมี พ.ร ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว และคาดว่าจะมี พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ในวันที่ 2 ม.ค. 2562 แต่ตามมาตรา 22 พ.ร.ป.กกต. ก็กำหนดให้ กกต. ต้องสอดส่อง สืบสวน ไต่สวน หากพบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็น เวลาในระหว่างที่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม


พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

ดังนั้น หลังวันที่ 11 ธ.ค. นี้ ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ ผู้ที่จะสมัครฯ หรือ พรรคการเมือง ก็ไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนให้ไต่สวนได้

ขณะเดียวกัน กฎหมายได้ให้ กกต. กำหนดและสนับสนุนเกี่ยวกับการหาเสียง ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กกต. ได้ยกร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งในเรื่องการจัดเวลาหาเสียงออกอากาศทางโทรทัศน์ให้พรรคที่สมัครโดยเท่าเทียมกัน การจัดดีเบตให้พรรคฯ ประชันนโยบายทางโทรทัศน์และแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งทางสำนักงานฯ เชิญพรรคการเมืองประชุมในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น

ก่อนจะปรับปรุงร่างระเบียบและเสนอต่อที่ประชุม กกต. พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ หรือ การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครฯ และนโยบายพรรคฯ ส่งถึงบ้านในแต่ละเขตเลือกตั้ง การจัดแอพพลิเคชันฉลาดเลือก ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัคร นโยบายพรรคการเมือง ให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษา การติดตามรายละเอียดผู้สมัครฯ และพรรค ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งก่อนประชาชนเข้าไปใช้สิทธิ์ จึงอยากให้ผู้ที่จะสมัครและพรรคการเมืองปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องการถูกร้องเรียนตามมา

ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะจัดระดมทุนวันที่ 19 ธ.ค. นี้ ก็ต้องรอดูว่า หลังวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ที่ คสช. ประกาศว่าจะยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น จะปลดล็อกให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดได้แค่ไหน หากทำได้ทั้งหมด ทุกพรรคก็สามารถดำเนินการได้ แต่การบริจาคก็ต้องไม่เกินรายละ 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

ส่วนเรื่องของการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงพรรคการเมืองด้วย การที่ กกต. จะกำหนดว่า บัตรเลือกตั้งควรมีลักษณะใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความเท่าเทียมกันของพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก การรักษาสิทธิของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ การป้องกันการปลอมแปลงบัตร ระยะเวลาการจัดพิมพ์ การขนส่ง

ทั้งนี้ ตามปฎิทินการทำงานที่ คสช. เสนอต่อที่ประชุมร่วมพรรคการเมือง เมื่อ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถ้าปิดรับสมัครในวันที่ 18 ม.ค. 2562 วันที่ 25 ม.ค. 2562 กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ และวันที่ 4-16 ก.พ. 2562 เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เท่ากับระยะเวลาในการจัดพิมพ์บัตรและส่งบัตรก่อนที่จะถึงห้วงแรกที่คนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิเลือกตั้งค่อนข้างกระชั้น จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองเรื่องบัตรเลือกตั้งเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กกต. จะนำปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งความเห็นทั้งหมดนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก