จี้กรุงไทยส่งชื่อคนผิดพัวพันปล่อยกู้เอิร์ธ หลังพบเบื้องต้น 15 ราย

11 ธ.ค. 2561 | 12:30 น.
 

บอร์ดชุดใหม่เอิร์ธ นัดประชุมผู้ถือหุ้น 15 ธันวาคมนี้หวังเดินหน้าทำธุรกิจต่างประเทศ แบงก์เจ้าหนี้หวั่นซํ้ารอยเก่า ซื้อมาขายไปตรวจธุรกรรมยาก ด้านผู้ถือหุ้นกู้จี้กรุงไทย เร่งเอาผิดพนักงาน พบเบื้องต้นผิด 15 คน แต่กรุงไทยไม่ระบุรายชื่อส่งดีเอสไอ

ระหว่างรอความชัดเจนการกำหนดทิศทางหรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) หรือ EARTH แม้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ฯ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ถึงความมีอยู่จริงของสิทธิ 1 ใน 2 เหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย คือ EHM (PT Emma’s Hiram Malia) และ JAB (PT Jags. Aretha Bars) ซึ่งนอกจากไม่ชัดเจนในปริมาณถ่านหินแล้ว เอิร์ธยังไม่มีแผนธุรกิจหรือแนวทางสร้างรายได้ที่จะแสดงฐานะการเงินให้บรรดาเจ้าหนี้เห็นโอกาสในการชำระคืนหนี้จำนวนมากได้

เพราะหลังจากศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการของเอิร์ธ ไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ส่งผลให้การฟื้นฟูกิจการของเอิร์ธที่มีมูลหนี้มากถึง 1.73 หมื่นล้านบาท ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหมดคือ ธนาคาร กรุงไทย กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ต้องหารือและมีความเห็นร่วมกันว่า จะจัดการอย่างไรต่อไป

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ทีมงานธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาหาวิธีการบริหารจัดการมูลหนี้ เพราะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ในทางปฏิบัติยังคงดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย แต่ไม่สามารถจะระบุให้ชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก่อน หรือกรณีไม่สามารถตกลงกันได้จำเป็นต้องใช้กระบวนการฟ้องคดีต่อไป ส่วนที่บริษัท อีวายฯ แจ้งผลตรวจพบเหมืองถ่านหินที่มีอยู่จริงในอินโดนีเซีย เชื่อว่าธนาคารเจ้าหนี้ต่างรอข้อเท็จจริงเช่นกัน เพราะในฐานะธนาคารเจ้าหนี้ต้องดูข้อเท็จจริง

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า การติดตามหนี้จากเอิร์ธ จะทำร่วมกับธนาคารกรุงไทยและใช้ทนายความชุดเดียวกัน เพราะกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่กว่า 12,000 ล้านบาทและยังเป็นหนี้ลักษณะเดียวกันด้วย แต่ของธสน.มีเพียงเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ดังนั้นต้องรอดูว่ากรุงไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

MP24-3425-A

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้เอิร์ธรายหนึ่งระบุกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เอิร์ธชุดปัจจุบันนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรอบแรกของบอร์ดชุดใหม่ โดยเฉพาะหลังจากอดีตบอร์ดถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษทั้งความผิดทางแพ่งและอาญา ขณะที่เจ้าหนี้เอิร์ธต่างฝ่ายต่างเจรจากัน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งต้องหาทางออกระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้

ทั้งนี้สิ่งที่เป็นความกังวลคือ แนวการทำธุรกิจของลูกหนี้ เพราะที่ผ่านมาเอิร์ธทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อมีผู้เสนอซื้อถ่านหินในราคาดีกว่าผู้ซื้อรายเดิม เอิร์ธก็ขายให้ไประหว่างทางแถมยังโอนเงินออกนอกประเทศ ทำให้จับต้นชนปลายยาก

“เข้าใจว่าบอร์ดชุดใหม่ จะไม่ทำธุรกิจในไทย แต่จะไปทำในจีนและอินโดนีเซีย ซึ่งจะมั่นใจหรือจะตรวจธุรกรรมอย่างไร ขนาดที่ผ่านมา ยังซับซ้อนตรวจสอบยากและด้วยความที่เอิร์ธเป็นเทรดเดอร์ซื้อมาขายไป เมื่อมีคนเสนอราคาดีกว่าเอิร์ธจะขายสินค้าเหมือนที่ผ่านมา มีการขายสินค้าระหว่างทาง แต่เงินถูกโอนไปฮ่องกง ซึ่งไม่มีการเปิดรายชื่อผู้ซื้อ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้เรื่อยๆธนาคารเจ้าหนี้จะรับได้ไหม”

อย่างไรก็ตามกรณีที่เอิร์ธจะดำเนินธุรกิจต่อยังต้องมีการหารือในรายละเอียดว่า จะดำเนินธุรกิจต่ออย่างไร เพราะการตรวจสอบความชัดเจนยาก แต่ยอมรับว่า ธนาคารเจ้าหนี้ทุกรายต้องการเห็นธุรกิจของลูกค้าเดินต่อ ไม่มีใครคิดแต่จะบังคับคดี ยกเว้นการเจรจาหาข้อยุติไม่ได้ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดี แต่ระหว่างทางยังสามารถเจรจาเพื่อหาทางออกกันอย่างต่อเนื่องซึ่งกรณีของเอิร์ธต้องใช้เวลากว่าจะหาข้อยุติได้

[caption id="attachment_358383" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

“แม้อีวาย จะระบุการตรวจพบเหมืองถ่านหิน แต่อีวายอ้าง 1 ใน 2 เหมืองในอินโดนีเซียมีสิทธิปริมาณอย่างน้อย 104 ล้านตันแต่ในความเป็นจริง ยังต้องลงทุนมหาศาลในการขุดเจาะเพื่อนำถ่านหินมาใช้โดยที่ไม่ทราบว่า มีปริมาณถ่านหินจริงเท่าไหร่ ส่วนระยะเวลาสัมปทานยังมีอยู่กว่า 10 ปี”

ขณะที่แหล่งข่าวผู้ถือหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินกล่าวว่า ได้เรียกร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)เพื่อขอให้ขยายผลให้ครอบคลุมมูลหนี้ทุกประเภท รวมทั้งรายได้และรายจ่าย เพราะที่ผ่านมาทราบว่ามีเงินหายจากระบบ

ในส่วนของกรุงไทยเองมีรายงานว่า พบพนักงาน 15 คนที่มีความผิดกับการปล่อยกู้ให้เอิร์ธ ซึ่งบางคนถูกพักงานไปแล้ว แต่บางคนยังคงทำงานที่กรุงไทย ซึ่งธนาคารอ้างว่าไม่สามารถส่งรายชื่อผู้กระทำความผิดต่อดีเอสไอได้ แม้จะพบการกระทำความผิดแล้ว แต่ต้องรอที่ประชุมบอร์ดชี้ขาด โดยกรุงไทยแจ้งว่า จะเร่งตรวจสอบให้ชัดเจนประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งบอร์ดธนาคารควรว่าจ้างผู้ประเมินอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านเหมืองถ่านหินโดยเฉพาะเช่น JORC ตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณถ่านหินด้วย

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,425 วันที่  9 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859