ไปรษณีย์ไทยเปิดแนวรบ สู้ศึกการค้าไร้พรมแดน

09 ธ.ค. 2561 | 04:34 น.
จากเดิมที่เคยผูกขาดธุรกิจโลจิสติกส์ แต่วันนี้ ไปรษณีย์ไทย ต้องฝ่าคลื่นลม เนื่อง จากมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทั้ง เคอรี่และ สปีด-ดี ที่มีช่องทางการตลาดไม่แพ้กัน

แม้จะมีข้อจำกัดขององค์กร ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อพลิกไปดูผลประกอบการของไปรษณีย์ไทย 3 ปีย้อนหลังกำไรยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ดูตารางประกอบ)

ทำไม? และเพราะอะไร ไปรษณีย์ไทย ถึงมีกำไร  ต่อเนื่อง “ฐานเศรษฐกิจ” มีคำตอบ จากการสัมภาษณ์พิเศษ นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ติดตามอ่านได้บรรทัดถัดจากนี้

3 ปีกำไรต่อเนื่อง

ผลกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง เป็นเพราะไม่หยุดนิ่ง และไม่ประมาท แม้จะมีข้อจำกัดในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่คนไปรษณีย์ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน รวมพลัง เพื่อพัฒนาบริการใหม่

[caption id="attachment_358080" align="aligncenter" width="317"] สมร เทิดธรรมพิบูล สมร เทิดธรรมพิบูล[/caption]

แม้จะมี คู่แข่ง เราก็ต้องสู้ เพราะไปรษณีย์ ไม่สามารถห้ามใคร ได้ คู่แข่งเข้ามาแต่ก็เฉยๆ จะมากี่รายก็เฉยๆ ถ้าไปพะวงไม่สามารถทำอะไรได้ สู้มานั่งคิดระดมสมองกับทีมงานพัฒนาคน พัฒนาบริการให้กับประชาชนน่าจะเหมาะสมที่สุดถึงจะมีข้อจำกัดต่างๆ เพราะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่เร็วเท่าเอกชนแต่ 3 ปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงานเติบโตขึ้น

แผนขยายช่องทาง

ปัจจุบัน ไปรษณีย์ มีสาขา 5,000 แห่งรวมกับสาขาเอกชน ปัจจุบันได้ร่วมกับปั๊มปตท.รับฝากเช่นเดียวกัน ยังมีแผนที่จะจับมือกับปั๊มรายอื่น ซึ่งไปรษณีย์มีจุด EMS POINT เริ่มแล้วที่ ปณ.8 ภาคใต้ เปิดไปแล้ว 400 จุด มีแผน ปูพรมทั่วประเทศเช่นเดียวกัน

แผนปี62

ตั้งใจว่าจะยกระดับการบริการให้ดีขึ้น นำเทคโนโลยีซึ่งเป็นระบบเคาน์เตอร์เวอร์ชันใหม่ (New CA POS) เชื่อมโยงระบบการทำงานตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์รับฝากจนถึงขั้นตอนการนำจ่าย ซึ่งทดลองติดตั้งระบบใหม่ 255 แห่ง และทยอยติดตั้งทั้ง 1,300 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับลูกค้ารายใหญ่ มีบริการรองรับการฝากล่วงหน้าได้ที่บ้านผ่านแอพ PROMPT POST คำนวณค่าใช้บริการอัตโนมัติ มีบริการจัดตั้งเครือข่ายรถยนต์สำหรับรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ลูกค้า โดยนำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ สามเสนใน, หลักสี่, ปากเกร็ด, จรเข้บัว, รังสิต, คลองจั่น, ภาษีเจริญ, ยานนาวา,พระโขนง และพระประแดง รวมถึงบริการ Same day Post จัดส่งของด่วนในพื้นที่ กทม. ภายในวันเดียว

mp20-3425-1 เป้าหมายของบริษัทต้องทำให้ระบบรับฝากสะดวกทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเพิ่มช่องทางการรับฝากมากขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการรับฝากสิ่งของนอกที่ทำการไปรษณีย์ของกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ ผ่านโมบายแอพพลิเคชัน เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้ากับทีมผู้ให้บริการรับฝากนอกสถานที่ ซึ่งไปรษณีย์ไทยเริ่มเปิดให้บริการรับฝากสิ่งของผ่านเครื่องให้บริการรับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) ที่กำลังรีบติดตั้งเพิ่มอีก 7 แห่งใน จ.กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี และแม่สอด หลังจากติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปแล้ว

อี-คอมฯดันรายได้เพิ่มแค่ไหน

2 ปีที่ผ่านมาการรับ-ส่งของ จากการซื้อ-ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ มีอัตราเติบโตค่อนข้างสูง แต่ในปีนี้สัดส่วนอยู่ที่ 20%

ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมไปรษณีย์ยังคงเป็นด้านสังคมดิจิตอลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงการค้าไร้พรม แดนผ่านระบบ e-Commerce ดังนั้น ธุรกิจไปรษณีย์ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐานสากล เชื่อมโยงเครือข่ายในทุกพื้นที่เพื่อพร้อมกับ
การค้าไร้พรมแดนที่กำลังเติบโตขึ้น พัฒนาบริการให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง รวมถึง พัฒนาบริการใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและทดแทนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล

สิ่งที่อยากทำก่อนหมดวาระ

3 ปีที่ผ่านมาคนไปรษณีย์ทำงานกันอย่างเต็มที่ ส่วนสิ้นปี 2562 เป็นวันหมดวาระทำงาน อยากจะทำอะไรทิ้งทวนเพราะตอนนี้การส่ง EMS ในพื้นที่กรุงเทพฯถ้าในเขตเดียวกันส่งเช้าได้บ่ายไม่คิดราคาเพิ่ม ซึ่งได้รับคำชมเชย ก็อยากพัฒนาในส่วนนี้ขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม 2561-ธันวาคม 2562 ทำโปรโมชัน บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) เป็นบริการเสริมใช้ควบคู่กับบริการ EMS โดยจัดทำจ่าหน้าผ่านระบบ Prompt Post ผู้รับปลายทางชำระเงินค่าสินค้าผ่าน Wallet@Post ของไปรษณีย์ไทยให้บริการฟรีเป็นเวลา 3 เดือนอีกด้วย

สัมภาษณ์ | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,425 ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว