'อุดรธานี' จัดระดมสมองฟื้นเมืองสีเขียว ดึง สกว. หนุนปฏิบัติการทดลองเมืองแห่งการเดิน

25 พ.ย. 2561 | 09:36 น.
สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานีผนึกเทศบาลนครอุดรธานี มาดีอีสาน ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย จัดระดมความเห็น เรื่อง "Udonthani Walkable City" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หวังฟื้นเมืองแห่งการเดิน



EAFCC3F0-6AF2-4A29-B622-131B384CCDE0

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี มาดีอีสาน ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดให้มีการบรรยาย เรื่อง "Udonthani Walkable City" ให้สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ตลอดจนความเห็นต่าง ๆ

โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้ 1.สภาพการวางแผน การวางผัง และการออกแบบเมือง ส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล (Auto-Oriented Planning) ที่สนับสนุนการเกิดโรคอ้วน การเพิ่มมวลกาย และการสร้างโอกาสการเกิดโรคร้ายของประชากรในปัจจุบัน 2.ผลประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ต่อสุขภาวะระดับเมือง ครัวเรือน และบุคคล จำแนกเป็นผลกระทบด้านสุขภาพระดับปัจเจกและระดับสุขภาวะชุมชน 3.ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของเมืองแห่งการเดิน จำแนกตามสาขาเศรษฐกิจตาม Smart Growth WALKUPs 4.ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม การลดการกระจัดกระจายของเมือง (Urban Sprawl) การลดการทำลายพื้นที่เกษตรกรรม และการลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก 5.การวางแผนและการออกแบบทางกายภาพปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเมืองแห่งการเดิน ตามเกณฑ์ LEED-ND และ Complete Streets (การออกแบบย่านแห่งการเดิน การออกแบบทางเดิน ทางข้าม ต้นไม้ใหญ่ สถานที่สาธารณะ ที่โล่งสีเขียว แหล่งน้ำในเมือง และสภาพแวดล้อมด้านหน้าอาคาร) 6.การออกแบบบูรณาการกายภาพถนนกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย การส่งเสริมเศรษฐกิจสองข้างทาง การนันทนาการ และการเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการเมือง


A8AE0363-FB0C-4720-B00F-CE011D3669D4

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นภาพการพัฒนาเมืองแห่งการเดินในมิติต่าง ๆ โดยกำหนดรายละเอียดการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้ คือ 1.โครงการ Udonthani Walkable City ได้ทำความตกลงกับเทศบาลนครอุดรธานี ในการใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นกลยุทธ์นำของการปรับปรุงกายภาพถนนและภูมิทัศน์เมือง โดยเทศบาลจะต้องปฏิบัติงานร่วมกับโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี 2.บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด สมาคม อสังหาริมทรัพย์อุดรธานี และเทศบาลฯ ได้กำหนดให้ผู้บริจาคงบประมาณกองทุนชั่วคราวเพื่อการพัฒนาเมืองเขียว โดยต้องบริจาคค่าจัดซื้อต้นไม้ ค่าปลูกรวมค่าค้ำยัน ค่าปุ๋ย ค่าดินปลูก และค่าดูรักษาไม่น้อยกว่า 1 ปี 3.ถนนที่คัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในการปลูกต้นไม้ใหญ่และออกแบบปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานแห่งการเดินนั้น จะต้องเป็นถนนที่เทศบาลรับผิดชอบดูแล หากยังเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง หรือ กรมทางหลวงชนบท หรือ หน่วยงานอื่น จะไม่รับเข้าโครงการ 4.พรรณไม้ที่ปลูก เทศบาลกับบริษัทอุดรพัฒนาเมือง และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดจะต้องพิจารณาคัดเลือกดันเอง 5.ถนนที่คัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ต้องมีขนาดเขตทางที่กว้างพอที่จะวางตุ้มรากต้นไม้ได้ไม้น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยเทศบาลจะต้องอนุญาตให้ออกแบบให้มีขนาดพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่น้ำซึมดินใต้ต้นไม้ได้ตามมาตรฐาน LEED-ND 6.พื้นที่นำร่องที่กำหนดจะต้องเป็นถนนใจกลางเมือง หรือ ถนนที่คาดการณ์ว่าจะเป็นย่านธุรกิจ หรือ ใจกลางของศูนย์เศรษฐกิจในอนาคต โดยมีระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่และปรับปรุงทางเท้าได้สองข้างทาง แต่ไม่ควรเกิน 500 เมตร เนื่องจากจะดูแลรักษายากในการทำงานระยะแรก 7.เทศบาลต้องตั้งงบประมาณในปีถัดไป ออกแบบปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่ปลูกต้นไม้ตามเกณฑ์ LEED-ND และก่อสร้างปรับปรุงฟื้นฟูทางเท้าใหม่ และ 8.ต้นไม้ที่เลือกต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว และมีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร


AAC971A0-BD92-4642-9502-3ED84A259ADE

สำหรับการจัดงานสัมมนาและปฏิบัติการ Udonthani Walkable City นั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นการบรรยายให้ความรู้การออกแบบเมืองแห่งการเดิน กำหนดจัดขึ้นในเวลา 13.00-15.30 น. ห้อง Maya โรงแรม De Princess Udonthani ส่วนช่วงที่ 2 กำหนดจัดการปฏิบัติการบนถนนจริงในพื้นที่สี่แยกด้านหน้าสถานีรถไฟอุดรธานี จัดในเวลา 16.00-19.30 น. เป็นการทดลองปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่จริงด้วยเทคนิค ที่เรียกว่า Tactical Urbanism ซึ่งนับเป็นการจัดครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสัมผัสพื้นที่จริงและร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธาน และมีการเสวนาเรื่อง "แนวทางการออกแบบศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองเพื่อยกระดับอุดรธานีเป็นศูนย์กลางธุรกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" โดยมี ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี พร้อมด้วยผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานอุดรธานีและสำนักงานจังหวัดอุดรธานีเป็นวิทยากร

595959859