‘เอามื้อสามัคคี’เปลี่ยนแนวคิดชุมชน จากทฤษฎีการค้าสู่การมีอยู่มีกิน

24 พ.ย. 2561 | 03:00 น.
ปัญหาเมืองน่าน มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องนํ้า ป่า หนี้สิน อาชีพทุกอย่างล้วนต้องการการแก้ไข ซึ่งล่าสุด โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 ซึ่ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิ กสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 พื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน เพื่อร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้ หลุมขนมครกบนพื้นที่สูง ฟื้นฟูธรรมชาติ พร้อมถ่ายทอดตัวอย่างของผู้ที่เปลี่ยนจากผู้บุกรุกมาเป็นผู้พิทักษ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศสานต่อแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น

เด็กภูฏาน

“วิวัฒน์  ศัลยกำธร” รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้ง มูลนิธิ กสิกรรมธรรมชาติ เปิดเผยว่า การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่นข้าวโพด ในจังหวัดน่าน ทำให้สูญเสียพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ในพื้นที่ราบสูง โดยพื้นที่เหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของนํ้ากว่า 40% ของแม่นํ้าเจ้าพระยา การแก้ปัญหาต้องสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก โดยนำศาสตร์พระราชาทั้งเรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม ออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อกักเก็บนํ้า ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น การทำกสิกรรมธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ การรุกป่าก็จะลดลง ถือเป็นการเปลี่ยนผู้บุกรุกให้เป็นผู้พิทักษ์อย่างยั่งยืน

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า จากการดำเนินโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 6 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งโครงการนี้ตอบโจทย์นโยบายด้านสังคมของบริษัท และยังเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ประเทศ เกี่ยวกับการให้ความรู้ในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน นํ้าท่วม หรือภัยแล้ง ซึ่งเชฟรอนตระหนักดีว่า โครงการลักษณะต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดของคน ให้หันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา

IMX5_0067

ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าได้ค่อนข้างมาก ชาวบ้านเริ่ม เข้าใจ ตอนนี้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ได้เป็นเกษตรทางเลือก แต่เป็นเกษตรทางหลักที่ชาวบ้านสามารถทำแล้วเกิดผลจริง พร้อมได้คุณภาพชีวิตที่ดีกลับมา

บทเรียนหลักๆ ที่ได้ คือ การจัดการกับปัญหาคอขวด ซึ่งจะเจออยู่เรื่อยๆ ตลอดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบของภาครัฐ ที่มีขั้นตอนมากมาย ระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆ สิ่งที่เชฟรอนและทีมงานดำเนินการคือ การเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน หากสามารถช่วยได้ ก็จะเข้าไปแก้ไขทันที ถือเป็นความพยายามช่วยกันขับเคลื่อนไปก่อน...ต่อไป คือ การคิดไปข้างหน้า พร้อมๆ กับแก้ปัญหาปัจจุบัน ค่อยๆ ทำไป แล้วสถานการณ์จะบอกเราเอง

ขณะนี้ คณะทำงาน ที่มี “อาจารย์โก้” หรือ “ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” หัวหน้าศูนย์บูรณาการ เทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระ จอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เครือข่ายภาควิชาการ ได้ร่วมทำงานวิจัยบนพื้นที่ 300 ไร่ ที่ห้วยกระทิง จังหวัดเลย เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะข้อมูลเพื่อวิจัยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และการทำเกษตรแบบเดิม รวมทั้งการออกแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง ที่สอดคล้องกับพื้นที่และสังคมในแต่ละพื้นที่ วิจัยดิน นํ้า สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ได้ขยายออกไปจาก 300 ไร่เป็น 3,000 ไร่ ในท้องที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้มี 3 พื้นที่หลัก คือ 1. แม่ละมาด จังหวัดตาก เป็นตัวแทนภาคตะวันตก 2. อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี เป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงหนือ และ 3. อำเภองาว  จังหวัดลำปาง เป็นบริบท ทางเหนือ  นอกจากนี้ ยังได้ทำการเอามื้อเพื่อขยายผลภายในจังหวัดของโครงการวิจัย และนอกพื้นที่วิจัย อาทิ กาญจนบุรี เชียงใหม่ และน่าน  ซึ่งแต่ละที่บริบทแตกต่างกัน โดยศูนย์บูรณาการฯ มีแผนจะนำเสนอผลงานวิจัย และนำมาถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นชุดความรู้และคู่มือ เพื่อขยายผลให้พื้นที่ชุมชนอื่นๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต

Screenshot (54)

“อาจารย์โก้” บอกว่า การออกแบบหนี้ เพื่อบริหารจัดการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการออกแบบทั้งระบบ ทั้งชุมชน เป็นการสอนให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ทำกินอย่างถูกวิธี บริหารจัดการด้านการเงิน บริหารต้นทุน แล้วนำนักท่องเที่ยวเข้ามาหา มาซื้อสินค้า มีการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจากโมเดลการออกแบบเหล่านี้ จากการประเมิน ชาวบ้านมีหนี้รายละกว่า 5 แสนบาท มีที่ทำกินประมาณ 10 ไร่ คาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถปลดหนี้ได้

“วริศรา จันธี” หรือ “กานต์” ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน บอกว่า ก่อนนี้ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด เพราะมีนายทุนเอาเมล็ดข้าวโพดมาให้ แต่กำหนดราคาขายตํ่า ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรอง ทำแล้วมีแต่หนี้ ทุกบ้านเป็นหนี้ไม่ตํ่ากว่า 4 แสนบาท กานต์ทำข้าวโพด 7 ไร่ มีรายได้ กว่า 30,000 บาทต่อปี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือปีละกว่า 10,000 บาทเท่านั้น จนเมื่อได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้จัดทีมมาเอามื้อใหญ่ 30 คน ได้คลองไส้ไก่ ตอนนี้ปลูกข้าวไร่พันธุ์มัดนํ้า ผลไม้ พืชผักผสมผสาน ผักกูด ชะพลู ข่า เพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน และเธอมั่นใจว่า จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีจะปลดหนี้ได้หมด

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,420 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

595959859