ซีพี-บีทีเอสผ่านฉลุย พิจารณาคุณสมบัติรถไฟเชื่อมสามสนามบิน

19 พ.ย. 2561 | 15:25 น.
กลุ่มซีพี และบีเอสอาร์ ผ่านเกณฑ์ตัดสินซอง 1 ประเมินคุณสมบัติ ชิงไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน รฟท.เดินหน้าตรวจซองด้านเทคนิคต่อ คาดแล้วเสร็จไม่เกิน 3 สัปดาห์ ระบุ 6 หลักเกณฑ์ตัดสิน เอกชนต้องมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 80%

นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า วันนี้ (19 พ.ย.) รฟท.ได้ดำเนินการตรวจสอบซองเอกสารเสนอราคาในส่วนของซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติทั่วไป ของเอกชนที่ยื่นประมูลโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ซึ่งพบว่าทั้ง 2 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์และพันธมิตร และ 2.กลุ่มบีเอสอาร์ ผ่านเกณฑ์การพิจารณา

“รฟท.ใช้เวลา 1 สัปดาห์หลังจากรับซองเอกสารเสนอราคาของเอกชนมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ตรวจสอบซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติแล้วเสร็จ พร้อมแจ้งไปยังเอกชนทั้งสองกลุ่มแล้ว ว่าผ่านเกณฑ์ทั้งคู่ วันนี้จึงเริ่มต้นขั้นตอนต่อไป คือ เริ่มเปิดซองที่ 2 ด้านเทคนิค คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 สัปดาห์ โดยเกณฑ์จะพิจารณาตามทีโออาร์กำหนด และซองนี้จะมีคะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสิน เอกชนจะต้องมีคะแนนของแต่ละหมวดไม่ต่ำกว่า 75% และคะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการประเมิน และเริ่มเปิดซองที่ 3 ได้”

สำหรับเกณฑ์การตัดสินของซองที่ 2 ด้านเทคนิค แบ่งออกเป็น 6 หมวด ประกอบไปด้วย 1.โครงสร้างองค์การและควาสามารถของบุคลากรในการบริการงานร่วมถึงแผนงานรวม 2. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา 3. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบ เครื่องกล และไฟฟ้า และขบวนรถไฟ 4. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคการให้บริการเดินรถ และบำรุงรักษา 5.แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม และ 6. การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

ด้านนายสุจิต เชาวน์ศิริกุล ประธานคณะกรรมการพิจารณาเอกสารประกวดราคา กล่าวว่า ถือว่าพิจารณาได้เร็วตามนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจากนี้จะเร่งพิจารณาซองที่ 2 ต่อเนื่องกันไปทันที หากไม่มีอะไรซับซ้อนก็คาดว่าจะพิจารณาได้เร็วเหมืองกับซองคุณสมบัติที่ผ่านมา

ทั้งนี้โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน มีมูลค่าการลงทุนราว 2.24 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนเริ่มต้นในระบบขนส่งทางรถไฟ 1.68 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 4.51 หมื่นล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 1.06 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะได้รับสัมปทานอายุ 50 ปี เป็นการออกแบบและก่อสร้างจำนวน 5 ปี และดำเนินการให้บริการอีก 45 ปี ซึ่ง รฟท.ตั้งแต่ตรวจซองข้อเสนอของเอกชนให้แล้วเสร็จ เพื่อลงนามสัญญาภายใน ม.ค.2562

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยผลตอบแทนดังกล่าว รฟท.ประเมินรว่าจะมาจากมูลค่าเพิ่มของการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาการเดินาทง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และการจัดเก็บภาษีต่างๆ ของรัฐที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีเอกชนยื่นประมูลจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์และพันธมิตร แบ่งออกเป็น ซีพี ถือหุ้นสัดส่วน 70% บริษัท China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ถือหุ้น 10% บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (ประเทศไทย) หรือ บีอีเอ็ม และบมจ. ช.การช่าง (ประเทศไทย) ถือหุ้นรวมกัน 15% และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ประเทศไทย) ถือหุ้น 5%

2.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบไปด้วย บีทีเอส ถือหุ้น 60% บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้นสัดส่วน 20% และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 20% 595959859