‘ณรงค์ชัย’ แนะรัฐเน้นช่วย ‘ฐานราก’ วางใจศก.ภาพรวมเชื่อมือธปท.-คลังเอาอยู่

05 มี.ค. 2559 | 02:30 น.
เป็นระดับคีย์แมนในทีมเศรษฐกิจรัฐบาล "ประยุทธ์1" ที่เข้ามารับหน้าที่ช่วงรอยต่อสำคัญของการฟื้นฟูกลไกการบริหารภาครัฐให้กลับเข้ารูปรอย ใช้เวลาไม่ถึงขวบปีในตำแหน่งรัฐมนตรี (รมว.) พลังงาน ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานครั้งสำคัญ ก่อนพ้นตำแหน่งครึ่งหลังปี 2558 เมื่อมีการปรับครม.เปลี่ยนมือเศรษฐกิจยกทีม และล่าสุดขอลาออกจากเก้าอี้ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไปเป็นบอร์ดวางนโยบายให้ภาคธุรกิจเอกชน

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้เจอ "ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ในงานแถลงแผนธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา จึงขอโอกาสอัพเดตทั้งชีวิตส่วนตัวและมุมมองเศรษฐกิจไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  ลาออกจาก “ที่ปรึกษาคสช.”

"ใช่ เพราะผมไม่สะดวก ผมไปเป็นกรรมการให้บริษัทเอไอเอ ประกันชีวิต เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งก่อนหน้าผมก็เป็นมาระยะหนึ่งก่อนที่จะไปรับตำแหน่งรมว.พลังงาน พอพ้นเขา( บอร์ดเอไอเอ) ก็ขอให้กลับมาใหม่

และเมื่อให้อัพเดตงานภาคเอกชน ณรงค์ชัยเล่าว่า นอกจากนี้ผมยังเป็นกรรมการขณะนี้ 6 แห่ง (เป็นซีอีโอ)ใน บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ไทยเยอรมัน-เยอรมันโปร (รายหลังมีผล 1 มี.ค.59), ประธานกรรมการในบลจ.เอ็มเอฟซี , และกรรมการบริษัทเอไอเอ ประเทศไทย, นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันแม่น้ำโขง

 เปิดพอรต์ลงทุนของกลุ่ม

"ธุรกิจที่ผมนั่งเป็นบอร์ดอยู่ บางส่วนผมก็ลงทุนอยู่ด้วยแล้ว ไม่ว่าหุ้นในบมจ.อนันดาฯ, บมจ.เอ็มเอฟซี รวมถึงหุ้นในกลุ่มของพวกผมเช่น บมจ.มาลีสามพราน, บมจ.เอบิโก้ โฮลดิ้ง, บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป อย่างในบลจ.เอ็มเอฟซี ผมถืออยู่ 1% (ราว 1 ล้านหุ้น ) 3 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนพูดได้ว่าก้าวกระโดดเท่าตัว ปันผลปีหนึ่งๆ 2 บาทต่อหุ้น หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งถือว่าให้ผลตอบแทนงามทีเดียว

ณรงค์ชัย ยังแนะผู้ที่ลงทุนในภาวะที่แนวโน้มดอกเบี้ยยังทรงตัว การฝากธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตรอาจได้ผลตอบแทนต่ำไม่คุ้ม ทางหนึ่งควรแบ่งเงินไปลงทุนในกองทุน โดยให้มืออาชีพอย่าง "บลจ." บริหาร

 มั่นใจกนง.ไม่ลดดอกเบี้ย

"ผมไม่คิดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นขาลง เพราะระดับที่เป็นอยู่ก็น่าจะรักษาเสถียรภาพค่าเงินได้ และธปท.คงไม่ต้องการเอาดอกเบี้ยต่ำเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ เพราะจะกระตุ้นให้ประชาชนสร้างหนี้เพิ่ม ดังนั้นก็ยังจะคงอัตราดอกเบี้ยในลักษณะนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี น่าจะเป็นจังหวะการลงทุนในโครงการภาครัฐหรือภาคเอกชนควรใช้โอกาสนี้ ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ต่ำ เพราะไปฝากหรือทำอย่างอื่นก็มีความเสี่ยงจากตลาดที่ยังผันผวนและผลตอบแทนต่ำ

 เงินบาทยังอยู่ในกรอบ 35-36 บาท

ส่วนค่าเงินบาทเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อน ถือว่าอ่อนค่าขึ้น (ระดับเฉลี่ย 32.50 บาทในปี 2557 มาเป็น 35.60 บาทในปัจจุบัน) แม้ในช่วงนี้จะแข็งค่าเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มเมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่าธปท.คงจะยังใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนคงในระดับปัจจุบันต่อ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก โดยที่แนวโน้มค่าเงินในระยะต่อไปก็คงไม่แข็งค่าไปกว่านี้

  มองฟื้นตัวของศก.โลกขึ้นกับจีน

นายณรงค์ชัย ยังมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่ายังฟื้นตัวช้า ว่าสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจจีน ที่เดิมเคยขยายตัวในระดับ 7% แต่จากการการปรับโครงสร้างการกระตุ้นในประเทศก็ดี ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้น แนวโน้มน่าจะเติบโตระดับ 6.5-6.7% และยังมีความเสี่ยงจากจากสถานะหนี้บราซิลที่ยังย่ำแย่ (หนี้ภาครัฐอยู่สูงเกินกว่า 80% ของจีดีพี)

แต่ถึงสถานการณ์โลกยังไม่ฟื้นดี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าค่อนข้างดี เรามีดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2558 เกินกว่า 8% ของรายได้ประชาชาติถือว่าเยอะมาก หนี้ระยะสั้นภาคเอกชนต่ำ/ภาครัฐก็น้อย ฉะนั้นแม้ส่งออกไทยยังติดลบ (ม.ค. 59 หดตัว 8.9%) แต่เทียบประเทศอื่นๆ ส่งออกก็แย่กว่าไทย และแนวโน้มด้านดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ก็ยังเป็นบวก โดยเฉพาะจากดุลบริการจากท่องเที่ยวที่เกินดุลมาก

ข้อมูลจากหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐที่มอนิเตอร์เรื่องนี้( ล่าสุดสภาพัฒน์ หรือสศช. ปรับเป้าจากเดิมที่เฉลี่ย 3.5% มาอยู่ในระดับ 3.3% ) มองอย่างไร เราก็คงมองไม่ได้แตกต่าง แต่สำคัญต้องติดตามเป็นรายเซ็กเตอร์ว่า เซ็กเตอร์ไหนโต –ไม่โต

 แนะรัฐเลือกช่วยฐานราก

"สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่ไทยลำบาก ทั่วโลกก็ลำบากกันทั้งนั้น ถ้าเปรียบเทียบแล้ว ผมยังมองว่า ภาครัฐไม่ควรจะเป็นห่วงอะไรในเรื่อง Macro ( เศรษฐกิจมหภาค) เพราะมีทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังดูแลดีอยู่แล้ว แต่ควรเข้าไปช่วย Micro ( เศรษฐกิจจุลภาค) คือเลือกช่วยเฉพาะคนที่เดือดร้อน ระดับชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้ใช้งบฯมากมาย" เขากล่าวและเห็นว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังขึ้นกับการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์รัฐเป็นสำคัญ

 จี้รัฐแก้ระเบียบดันลงทุนแจ้งเกิด

ผมคิดว่าภาครัฐพยายามอยู่ คือการเร่งการลงทุนให้เกิด ซึ่งก็พยายามมา ตลอดแต่ก็ยังช้า ปัญหาก็เพราะติดกฎระเบียบมากมาย คือคนตัดสินก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้องตามหลังได้ทั้งกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมและยังมีเรื่องกลุ่มประท้วงอีก ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ด้วยแล้ว กฎระเบียบเยอะและยังเกรงใจผู้ประท้วงอีก

"การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ ก็อยู่ที่การลงทุนภาครัฐเป็นหลัก เพราะทางด้านประชาชน จะไปให้เขากู้ยืมอะไรมากมายไม่ได้ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนเราสูง ที่สำคัญรัฐต้องฉวยโอกาสในช่วงที่ระบบมีสภาพคล่องสูง ลงทุนให้มาก"

ณรงค์ชัย ยังมองว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ดูผิวเผินอาจเหมือนไม่ฟื้น แต่ผมยังเชื่อว่าแนวโน้มไม่ได้ตก โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนกันมาก เช่นใน พม่า,สปป.ลาว,เวียดนาม และกัมพูชา อย่างสปป.ลาว มีการลงทุนของภาคเอกชนไทยเต็มไปหมด มูลค่ารวมๆ หลายแสนล้านที่ส่วนใหญ่เป็นด้านพลังงานแล้วส่งกลับมาไทย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559