'คีรี' ดึง 'เปรมชัย' ชิงไฮสปีดแข่ง 'ซีพี'

11 พ.ย. 2561 | 11:53 น.
'บีทีเอส' ดึง 'อิตาเลียนไทย' ร่วมเป็นพันธมิตรประมูลโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 1.82 แสนล้าน แข่งกลุ่มซีพี ที่ผนึก "ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น" จากจีน และ 'อิโตชู' จากญี่ปุ่น

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็น 1 ใน 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ได้ประกาศเชิญชวนนักลงทุนเป็นโครงการแรก และได้เปิดขายเอกสารคัดเลือกผู้ร่วมประมูลไปแล้ว มีผู้สนใจเข้ามาซื้อซองเอกสารจำนวน 31 ราย แบ่งเป็น นักลงทุนจากไทย 14 ราย จากจีน 7 ราย ญี่ปุ่น 4 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย มาเลเซีย 2 ราย เกาหลีใต้ 1 ราย และอิตาลี 1 ราย ซึ่งในวันที่ 12 พ.ย. 2561 นี้ จะเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นเข้าประมูล

จากการติดตามความสนใจของนักลงทุนดังกล่าว คาดว่าการยื่นข้อเสนอประมูลครั้งนี้จะมีการจับกลุ่มกันเข้าร่วมประมูลในลักษณะกิจการร่วมค้า ซึ่งจะทำให้เหลือผู้ที่สนใจเข้ายื่นประมูลเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น ประกอบด้วย กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่เกาะกลุ่มเหนียวแน่นกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) ของนายเปรมชัย กรรณสูต จะเข้าร่วมกับกลุ่มบีทีเอสด้วย หลังจากเจรจากับกลุ่มซีพีไม่ลงตัว

ขณะที่ อีกกลุ่มจะเป็นของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซีพี ที่จะดึงกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่นเข้าร่วม ซึ่งสอดรับกับที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวถึงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่ 3 ว่า ทั้ง 2 ประเทศ โดยภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ จะร่วมทุนกันและเข้ามาร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการแรกในอีอีซี

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบฐานะการเงินของ 4 บริษัท ในกลุ่มบีทีเอส พบว่า มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 352,559.52 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอสฯ จำนวน 1.10 แสนล้านบาท, บริษัท ซิโน-ไทยฯ 3.47 หมื่นล้านบาท, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี 1.03 แสนล้านบาท และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ 9.45 หมื่นล้านบาท

สำหรับบริษัท บีทีเอสฯ มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 72,676.03 ล้านบาท ในปี 2560 (วันที่ 31 มี.ค. 2560) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,003.48 ล้านบาท และ ณ วันที่ 7 พ.ย. 2561 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 110,160.57 ล้านบาท

ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,525.10 ล้านบาท ในปี 2560 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 610.83 ล้านบาท และปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 37,517.62 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 14,500 ล้านบาท ในปี 2560 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,106.70 ล้านบาท และปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 72,137.50 ล้านบาท ด้าน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 6,337.92 ล้านบาท ในปี 2560 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 412.65 ล้านบาท และปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 14,361.17 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มซีพี มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนนำ จะมีบริษัทหลัก ๆ ที่เข้าร่วมกลุ่ม คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากจีน และบริษัท อิโตชู จากญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 5.45 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย สินทรัพย์ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ 5.14 หมื่นล้านบาท, บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น 3.89 ล้านล้านบาท และบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่นฯ 1.50 ล้านล้านบาท โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นแกนนำ มีทุนจดทะเบียน 9,150 ล้านบาท ผลประกอบการในปี 2560 มีกำไรสุทธิ 3,226.69 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซีอาร์ซีซี) เป็นรัฐวิสาหกิจจีน จากกรุงปักกิ่ง ก่อตั้งในปี 2491 เคยได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (ในแง่รายได้) ในปี 2557 บริษัทมีนโยบายในการจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทก่อสร้างระดับโลก และก็ทำสำเร็จ โดยไม่กี่ปีมานี้ ซีอาร์ซีซีสามารถทำสถิติเข้าไปรับงานก่อสร้าง 209 โครงการ ใน 35 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการในแถบแอฟริกา แต่ในระยะหลังหันมาเน้นโครงการด้านรถไฟ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน และโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การก่อสร้างสนามกีฬาในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

ส่วนบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่นฯ เป็นบริษัทผู้ค้า (นำเข้า-ส่งออก) และผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ในปีที่ผ่านมา (2560) อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ถูกจัดอยู่ในอันดับ 215 ของทำเนียบ 500 บริษัทใหญ่ระดับโลกของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 500) ด้วยรายได้ 44,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทยังมีธุรกิจอีก 6 แขนงหลัก คือ สิ่งทอ โลหะและแร่ธาตุ อาหาร เครื่องจักรกล พลังงานและเคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์


123748

นายวีระยุทธ โพธิ์ใหญ่ วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางเขตฉะเชิงเทรา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะมีไม่เกิน 3 กลุ่ม ที่ยื่นประมูล ซึ่งเป็นรายที่มีศักยภาพในการร่วมลงทุน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะเหลือรายเดียวที่ชนะประมูลและจะแบ่งงานให้รายอื่นรับไปดำเนินการ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดโครงการดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนในรัฐบาลนี้

"รายเดียว แต่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสิ้นว่าจะเป็นกลุ่มซีพีและกลุ่มบีทีเอส ซึ่งบีทีเอสยังเกาะกันแน่นกับ 3 ปาร์ตี้ ตามที่เปิดตัวมาตั้งแต่ต้น ส่วนกลุ่มอื่น ๆ นั้น คงต้องจับกับต่างประเทศ ดังนั้น ภายหลังวันที่ 12 พ.ย. นี้ไปแล้ว คงต้องจับตาว่ารายไหนจะให้ข้อเสนอที่ดีกว่ากัน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าจะมาแบ่งงานกันทำ เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนที่รัฐบาลกำหนดในปี 2566"

สำหรับผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับ จะเกิดการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี การจ้างงานระหว่างก่อสร้าง 16,000 อัตรา ใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ เหล็ก 1 ล้านตัน ปูน 8 ล้านตัน มีผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการ 652,152 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางการเงิน 127,985 ล้านบาท ภาษีเข้ารัฐเพิ่ม 30,905 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ประมาณ 150,000 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม 128,641 ล้านบาท ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,417 วันที่ 11 - 14 พ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดใจ ... 'คีรี กาญจนพาสน์' ประสบการณ์ 20 ปี วงการระบบขนส่งมวลชน
‘คีรี’ฉวยจังหวะหุ้นลง ดอดซื้อBTS-VGI


เพิ่มเพื่อน
595959859