ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน  สู่ ASEAN Trade Platform 

20 พ.ย. 2561 | 11:23 น.
 

คอลัมน์ เทรดวอชต์

คงฤทธิ์ จันทริก

ผู้อํานวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 33 ณ ประเทศสิงคโปร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากชาติสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน โดยคาดว่าจะบังคับใช้ต้นปี 2562 และตั้งเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างชาติสมาชิกให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น

เนื้อหาในความตกลงจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce ecosystem) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้าและผู้บริโภค และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนช่วยให้เกิดการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศของชาติสมาชิกโดยเฉพาะประเทศที่ยังขาดความพร้อม อาทิ กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนมีกฎระเบียบและมาตรฐานเดียวกันหรือสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนขยายตัวมากขึ้น และเป็นฐานสำคัญในการเชื่อมต่อกับประเทศคู่ค้าสำคัญนอกอาเซียนต่อไป TP8-3419-B

ในส่วนของภาคเอกชนก็คาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะอาศัยโอกาสที่เราเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เร่งรัดผลักดันชาติสมาชิกอาเซียนให้พัฒนา National Trade Platform (NTP) เพื่อเป็นแกนกลางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในแต่ละประเทศและเชื่อมต่อกับ National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบของหน่วยงานภาครัฐ ก่อนเชื่อมโยงไปสู่ ASEAN Trade Platform (ATP) และ ASEAN Single Window (ASW) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างชาติสมาชิกมีการขยายตัวมากขึ้น และสามารถแข่งขันกับชาติมหาอำนาจทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ลงนามไว้ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้ชาติสมาชิกเดินหน้าในแนวทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เชื่อมโยงกันระหว่างชาติสมาชิก ภาครัฐต้องอาศัยความเห็นและข้อเท็จจริงจากภาคเอกชนแต่ละประเทศมาเป็นแนวทางในการพัฒนา ซึ่งจะทำให้สามารถออกแบบระบบได้ตรงตามความต้องการในปัจจุบัน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนต้องมีกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว โดยต้องอาศัยประสบการณ์และข้อผิดพลาดที่อาเซียนได้ประกาศใช้ระบบ e-Form D เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าเอกชนจะไม่ได้คัดค้านการใช้ระบบดังกล่าว แต่ภาครัฐขาดการประสานงานที่ดีกับภาคเอกชนในขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยประสบปัญหาในการป้อนข้อมูล Port of Discharge หรือท่าเรือปลายทาง โดยใช้มาตรฐาน UN/LOCODE (The United Nations Code for Trade and Transport Locations) เนื่องจากสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีการกำหนดรหัสแตกต่างกันในระดับ “ท่าเรือ” และ “ท่าเทียบเรือ”

ขณะที่ในทางปฏิบัติสายเดินเรือมิได้แจ้งข้อมูลท่าเรือปลายทางลึกถึงระดับ “ท่าเทียบเรือ” และมิได้แจ้งข้อมูลตามมาตรฐาน UN/LOCODE ให้ผู้ส่งออกต้นทางทราบ ส่งผลให้การกรอกข้อมูล Port of Discharge ผ่านระบบ e-Form D ไม่ถูกต้อง และสร้างความกังวลให้กับทั้งผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าในต่างประเทศว่าศุลกากรประเทศปลายทางจะยกมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้นำเข้าหรือไม่ ในขณะที่กรมการค้าต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ e-Form D ไม่สามารถให้ความชัดเจนแก่ผู้ส่งออกถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และแม้ว่าจะบังคับใช้มาแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีกลไกในการหารือกับศุลกากรในประเทศปลายทางว่าจะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้สำหรับผู้ส่งออก-นำเข้าของอาเซียน และนอกจากจะต้องการให้มีการเจรจาร่วมกันโดยเร็วแล้วยังคาดหวังว่าจะไม่ต้องเผชิญกับกรณีอย่างนี้อีกในอนาคต

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,419 วันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2561 e-book-1-503x62