กสอ. ปรับเงื่อนไขกองทุนเพื่อ "อุตฯครัวเรือน" ช่วยรายย่อย

13 พ.ย. 2561 | 09:32 น.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเดินหน้าปรับเงื่อนไขกองทุนเพื่ออุตสาหกรรมครัวเรือน ระบุ ลดดอกเบี้ยเหลือ 4% กู้ได้ 7 ปี รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินกองทุน 100 ล้าน คาดขอเพิ่มอีก 100 ล้าน หลังครบ 6 เดือน พร้อมเผยงบประมาณเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปี 62 รวมกว่า 800 ล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขกองทุนเพื่ออุตสาหกรรมครัวเรือน ซึ่งมีไว้สำหรับดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือ โอท็อป (OTOP) และอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 6% ได้ถูกปรับลดลงให้เหลือ 4% มีระยะเลาในการผ่อนชำระ 7 ปี โดยจะให้สินเชื่อไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด กรมได้เริ่มต้นเดินหน้าโครงการไปเมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 100 ล้านบาท


thumbnail_นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ วงเงินจำนวน 100 ล้านบาท กรมฯ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการปล่อยสินชื่อประมาณ 6 เดือน หรือ ปล่อยได้หมดประมาณเดือน มี.ค. 2562 หลังจากนั้น หากกองทุนดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี กรมฯ จะดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมอีก 100 ล้านบาท จากกรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการกองทุนต่อไป โดยกุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายของกองทุน ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค (Food Truck), กลุ่มเกษตรแปรรูป, กลุ่มโอท็อป และหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV เป็นต้น

"ล่าสุด ได้มีคำขอสินเชื่อเข้ามาแล้วประมาณ 80 ล้านบาท โดยทั้งหมดกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาการให้สินเชื่อตามเงื่อนไขของกองทุน"

นายกอบชัย ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาเอสเอ็มอีประมาณ 5,000 กิจการ พัฒนาผู้ประกอบการ/บุคลากรอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 25,000 คน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย ยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการอีกประมาณกว่า 2,000 รายการ คาดว่าการส่งเสริมทั้งหมดจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้นโยบาย "From Local to Global" by Marketing and Innovation คือ ผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ ได้แก่


thumbnail_ภาพแถลงเปิดยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ปี 2562

1.การตลาดนำการส่งเสริม ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการเพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าต่าง ๆ เกิดความสมดุล พร้อมช่วยลดปัญหาการสต็อกสินค้าและสินค้าล้นตลาด ซึ่ง กสอ. จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำน้อยให้ได้มาก เปลี่ยนแนวคิดการผลิต จากเดิมที่หวังผลผลิตสูงสุดเป็นกำไรสูงสุด โดยมีแนวทางปฏิบัติที่ทั้งในด้านบุคลากรและการสร้างแพลทฟอร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้แก่ การผลักดันสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า ซึ่งปี 2562 ได้ตั้งเป้าให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ช่องทางดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10,000 ราย กิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ อาทิ วิดีโอ อินฟลูเอนเซอร์ การสอนถ่ายภาพเพื่ออี-คอมเมิร์ซ พัฒนาอี-แคตตาล็อก บนเว็บไซต์เพื่อโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า เช่น ฐานข้อมูลเพื่อการจับคู่ธุรกิจบน T-Goodtech, J-Goodtech การให้ข้อมูลเรื่องเทรนด์ หรือ กระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาด ทั้ง Micro Moment หรือ พฤติกรรมรายวัน รายเดือน รายหกเดือน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น

และ 2.นวัตกรรมนำการส่งเสริม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอี ด้วยการนำผลงานวิจัย หรือ กระบวนการใหม่ ๆ มาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การเชื่อมโยงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำงานวิจัยไปต่อยอดสินค้า หรือ พัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น อาหารแห่งอนาคต เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว ฯลฯ การพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ อาทิ แอพพลิเคชันเพื่อการจัดทำบัญชี แอพพลิเคชันท่องเที่ยวหมู่บ้าน CIV การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรม และสถาบันการเงิน พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังจะมีการใช้พื้นที่บริเวณย่านกล้วยน้ำไทให้เป็นศูนย์รวมการบริการด้านนวัตกรรมที่ครบวงจร โดยความร่วมมือของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น


thumbnail_ภาพแถลงข่าวผู้ประกอบ success care

นายกอบชัย กล่าวอีกว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการของ กสอ. ในปีถัดไป ยังจะมุ่งเน้นการดำเนินงานให้มีลักษณะเหมือน "โค้ช" ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงทั้งปัญหาทั่วไปและปัญหาเฉพาะด้าน โดยได้วาง "โค้ช" ไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0, 2.จะมุ่งเน้นการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์, 3.โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน และ 4.โค้ชเชื่อมโยง SMEs สู่ระดับโกลบอล


090861-1927-9-335x503