ปิดฉากแอร์ไลน์ปี58 มีทั้งรุ่ง-ร่วง จับตาปีนี้ฉายแววกระเตื้อง

03 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
ปิดฉากธุรกิจการบินปี58 แม้ 4 กลุ่มธุรกิจการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ครองส่วนแบ่งตลาดธุรกิจการบินของไทยอยู่ร่วม 80 % จะปิดรายได้รวมในธุรกิจนี้อยู่ที่ร่วม 2.5 แสนล้านบาท แต่มีเพียง 2 สายการบินที่กำไร คือ บางกอกแอร์เวย์ส และไทยแอร์เอเชีย ขณะที่การบินไทย ปีที่ผ่านมาขาดทุนอยู่ 1.3 หมื่นล้านบาท ถือว่าขาดทุนลดลง จากความสำเร็จในการเดินแผนปฏิรูปองค์กร ส่วนนกแอร์ ยังคงประสบปัญหาการขาดทุน (ตารางประกอบ) และทิศทางในปีนี้แต่ละสายการบินจะเดินอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ"ได้โฟกัสประเด็นสำคัญมานำเสนอ

[caption id="attachment_34897" align="aligncenter" width="503"] ผลประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2558 ผลประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2558[/caption]

 ปี58 ไทยแอร์เอเชียเด่นสุด

หากจะโฟกัสกันที่ผลประกอบของธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไทยแอร์เอเชีย ได้แซงสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไปแล้ว โดยมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่กว่า 1.99 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกำไรสุทธิในส่วนของบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่นหรือAAV อยู่ที่ 1.078 พันล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร(โหลด แฟ็กเตอร์)อยู่ที่ 81% มีผู้โดยสารใช้บริการ14.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22% ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส ในปีนีก็ใช่ย่อย เพราะมีการเติบโตของกำไรสุทธิร่วม 379.4 % ซึ่งการทำกำไรที่เกิดขึ้น สะท้อนได้ดีถึงประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจ และอนิสงค์จากราคาน้ำมันที่ลดลง

ขณะที่การบินไทย ในปีที่ผ่านมาจากการเดินแผนปฏิรูป และการลดค่าใช้จ่ายไปได้ร่วม 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 10% ก็ทำให้การขาดทุนสุทธิอยู่ที่1.3 หมื่นล้าน และที่น่าจับตามองคือกำไรจากการดำเนินธุรกิจการบินที่อยู่ที่570 ล้านบาท ดีขึ้นมากหากเทียบกับการขาดทุน 2.24 หมื่นล้านบาทในปี2557 ส่วนนกแอร์ ในปีที่ผ่านมาการขาดทุนรวม 1.66 พันล้านบาท เฉพาะในส่วนของนกแอร์อยู่ที่ 723.9. ล้านบาท การขาดทุน เกิดจากสาเหตุ รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการแข่งขันด้านการตลาดที่รุนแรงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ จำนวนเที่ยวบินต่ำกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราการหมุนเวียนเข้าออกของนักบินในปีที่ผ่านมาที่ถูกซื้อตัวไปอยู่กับสายการบินอื่นมากกว่าอัตราปกติที่สายการบินคาดการณ์ไว้ และยังมีค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องยนต์ซ่อมบำรุง และการรับรู้ผลการขาดทุนของนกสกู๊ต

ดังนั้นจากสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มว่าในปีนี้ไทยแอร์เอเชีย ยังคงมีการเติบโตที่โดดเด่นในการแสวงหากำไร และน่าจะขับเคลื่อนรายได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นร่วม 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การบินไทย จะเป็นปีที่น่าจะเริ่มเห็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นบ้างแล้ว

  ไทยแอร์เอเชียเพิ่มฝูงบินอีก 5 ลำ

ต่อเรื่องนี้ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่าในปี 2559 สายการบินวางเป้าหมายการเติบโตในแง่ของรายได้อยู่ที่ราว 16% ซึ่งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะยังคงรักษาแชมป์ความเป็นเบอร์1 ตลาดการบินในประเทศ รวมถึงพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น และรักษาความตรงเวลา และ ไทยแอร์เอเชียวางแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำจนครบ 50 ลำในปี2559 และวางเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 16.9 ล้านคน

"การขยายจุดบินในปีนี้ จะไม่มีการเปิดฮับบินใหม่เพิ่มเติม เพราะฮับบินที่อู่ตะเภา และหาดใหญ่ ที่เปิดไปแล้วในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปด้วยดี แต่จะเน้นไปที่การเปิดจุดบินในประเทศกลุ่มCLMV และอาเซียน เพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้จะมีการเปิดจุดบินใหม่ประมาณ 8-9 จุดบินมีทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างละ50:50" นายธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

 บางกอกแอร์ขยายเน็ตเวิร์ค

ส่วนต่อเรื่องนี้นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2559 ว่าจะยังคงเน้นการขยายโครงข่ายเส้นทางการบินที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร เพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางการเดินทางที่สำคัญทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค โดยในปีนี้ บริษัทฯ จะเปิดเส้นทางบินใหม่ อาทิ เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) สมุย - กวางโจว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินที่ได้รับความนิยม อาทิ กรุงเทพ - พนมเปญ เพิ่มเป็น 6 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพ - เชียงใหม่ เพิ่มเป็น 8 เที่ยวบินต่อวัน

รวมไปถึงการเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วม(โค้ดแชร์)กับสายการบินชั้นนำจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีสายการบินพันธมิตร 20 สายการบิน และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับอีก 5 สายการบิน โดยส่วนใหญ่เป็นสายการบินในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสูงสุด ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยและมีการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ผ่านการให้บริการของบางกอกแอร์เวย์ส ส่วนในด้านการเพิ่มฝูงบิน บริษัทฯ มีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มเติมในปีนี้อีก 6-7 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 3 ลำ และ เครื่องบินแบบแอร์บัส 319 อีกจำนวน 3-4 ลำ โดยจะทำให้บริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 36 ลำ

 บินไทย-นกแอร์เริ่มฟื้น

ในส่วนของการบินไทยนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่าในปีนี้การบินไทย จะเริ่มดีขึ้น จุดบินที่หยุดบินไปเมื่อปีที่ผ่านมา หากปีนี้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินได้เพิ่มขึ้นก็จะกลับมาทำการบินใหม่ อาทิ จุดบินมอสโคว ที่มองไว้ในช่วงปลายปีนี้ เป็นต้น รวมถึงจะผลักดันการขายเพิ่มขึ้น การใช้ไทยสมายล์ ในการเปิดจุดบินใหม่อาเซียน และปีนี้อยากเห็นเคบิน แฟกเตอร์ของสายการบินอยู่ที่ 80% การเดินแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพิ่มรายได้จากบิสิเนสยูนิตต่างๆและการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ในปีนี้การบินไทยจะเริ่มมองการขยายตัวได้และจะมีความเข้มแข็งอย่างเต็มที่ในปีหน้า

ด้านของนกแอร์ นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กร และแก้ปัญหาในองค์กรแล้วเสร็จ คาดว่าหลังวันที่ 10 มีนาคมนี้ นกแอร์จะกลับมาทำการบินได้ปกติ และเขาย้ำว่านกแอร์กำลังจะกลับมา และเติบโตอย่างเข้มแข็ง ในฐานะสายการบินต้นทุนต่ำสายเดียวที่มีเจ้าของเป็นคนไทย 100% เพราะเมื่อนกแอร์ปรับการบริหารในองค์กรได้ตามแผน เพื่อยกระดับให้ถัดเทียมมาตรฐานEASA จะส่งผลให้ต่อไปการร่วมมือกับกลุ่มสายการบินจากต่างประเทศก็จะได้เดินหน้าได้ตามแผน ซึ่งก็มีการหารือร่วมกับหลายสายการบินของยุโรป ในการร่วมเป็นพันธมิตร อาทิ สายการบินยูโร วิงส์,นอร์วีเจียน แอร์ไลน์ส แต่เราจะยังไปหาเขาไม่ได้ ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลซึ่งเป็นสิ่งที่เขายึดไว้อยู่

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของธุรกิจการบินในปีที่ผ่านมาและทิศทางการทำงานในปีนี้ที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559