ผ่าโมเดล! ควบ "ทีโอที-กสท" ชง ครม. พิจารณาแยก 8 หน่วยงานธุรกิจ เดือนนี้

04 พ.ย. 2561 | 09:53 น.
ผ่าแผนควบรวม "ทีโอที-แคท" จัดโครงสร้าง 8 บียู ตามโรดแมปของกระทรวงดีอี ด้าน สรท. กังขาประเด็นโอนใบอนุญาตคลื่น ยํ้า! ต้องไม่กระทบคดีฟ้องร้องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

แหล่งข่าวจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้คณะทำงานเตรียมการควบรวมของ 'ทีโอที' และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายใต้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่กำกับการเตรียมการควบรวมของกิจการของทั้ง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับจัดทำรายละเอียดของการควบรวมโดยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเตรียมการได้จัดการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ก.ย., วันที่ 4 ต.ค. และวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง ในเดือน พ.ย. นี้ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับโครงสร้างองค์กรใหม่นั้น แบ่งเป็น 8 หน่วยงานธุรกิจ ประกอบด้วย 1.หน่วยงานดูแลงานชุมสาย, 2.ดูแลงานที่ดิน ตึกอาคาร เสาโทรคมนาคม และ 3.ดูแลงานท่ออินเตอร์เน็ตต่างประเทศ เป็นต้น


MP20-3415-A

ด้าน นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ หรือ สรท. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สรท. ไม่ขัดข้องการควบรวมธุรกิจ แต่มีประเด็นคำถามด้านกฎหมาย 2 เรื่อง คือ สิทธิในการใช้คลื่นความถี่วิทยุสามารถโอนไปให้บริษัทใหม่ได้ (การขัดกันของกฎหมาย กล่าวคือ พ.ร.บ.กสทช. ให้สิทธิในการ ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวและต้องประกอบกิจการเอง ส่วน พ.ร.บ.ควบรวมกิจการ กำหนดให้สิทธิของบริษัทเดิมนั้น โอนไปให้บริษัทควบรวมได้) และประเด็นการควบรวมต้องไม่กระทบต่อคดีทีโอทีฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่า Access Charge จากบริษัทเอกชนคู่สัญญาของ กสท ด้วยการควบรวมจะทำให้คดีพิพาทระหว่างทีโอทีและ กสท หมดสิ้นกันไป และจะเป็นเหตุให้บริษัทเอกชนยกเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่า AC เพราะบริษัทเอกชนไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง เป็นเพียงผู้นำส่งค่า AC ให้ทีโอทีเท่านั้น

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นสิทธิสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนของบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคณะทำงานมีมติเป็นกรอบก่อนอย่างคร่าว ๆ นั้น คือ ต้องไม่รอนสิทธิของพนักงานที่มีอยู่เดิม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรหลังจากที่มีมติ ครม. ในเดือน พ.ย. นี้ จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาเขียนสภาพการจ้างและสิทธิประโยชน์ของพนักงานลงในรายละเอียด

นอกจากนี้แล้ว สรท. ได้ทำหนังสือถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับการให้ความเห็นและความรับผิดชอบอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในกรณีการควบบริษัท

เหตุผลที่ สรท. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และได้มีมติในหลักการการปรับโครงสร้างองค์กร โดยการควบรวมกิจการ (Consolidation) ของทั้ง 2 หน่วยงาน ให้เป็นองค์กรเดียวกัน ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอและมอบหมายให้จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการข้างต้นและนำเสนอให้ คนร. พิจารณาภายในเดือน พ.ย. 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป


หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,415 ระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว