คนพูดว่าธนาคารกลางดำเนินนโยบาย Currency Warแข่งกันลดค่าเงินผมคิดว่าอันตราย

02 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
ปัจจัยภายนอกที่เป็นความท้าทายต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความแตกต่างของการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งสะท้อนความเสี่ยงและความผันผวนระบบการเงินเพิ่มขึ้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึงภูมิคุ้มกันของเศรษฐกิจไทยและมาตรการกำกับดูแลธนาคารในระบบ

[caption id="attachment_34835" align="aligncenter" width="369"] ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]

 กันชนเศรษฐกิจไทย

"ดร.วิรไท" เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในสภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงมากและยังคงอยู่กับเราต่อไปซึ่งในแง่ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถ้าเป็นประเทศไหนที่ต้องพึ่งหนี้เงินกู้หรือเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือ Risk Appetite คือความกล้ารับความเสี่ยงของนักลงทุนทั้งหลายลดลงไป เหล่านี้ย่อมทำให้การลงทุนของประเทศเกิดใหม่น้อยลงโดยเงินจะไหลออก

หากเป็นลักษณะนี้ประเทศจะกลัว 2-3ประการคือ 1. ผลต่อสภาพคล่องในประเทศเกิดใหม่ เพราะถ้าเงินไหลกลับจะทำถือให้สภาพคล่องหรือสภาวะการเงินในประเทศดึงตัวมากขึ้น 2. ผลกระทบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่อง) และหากประเทศนั้นภาคเอกชนหรือธนาคารไปพึ่งเงินกู้หรือเงินตราต่างประเทศมากๆ หลังจากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในภาวะที่สูง ซึ่งเป็นความกลัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นไปสูงมาก เป็น Super Cycle บริษัทต่างๆ มีการขยายการลงทุนไปกู้เงินต่างประเทศเข้ามา ซึ่งเวลานี้สถานการณ์กลับข้างจึงถูกผลกระทบ

กรณีของประเทศไทยนั้น ยังมีกันชนทำให้ความกังวลไม่รุนแรงเหมือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยมี 3ปัจจัยคือ 1.ช่วงที่ผ่านมาไม่ได้พึ่งเงินตราต่างประเทศมากเท่าไร ในรูปของเงินกู้ 2. เรามีสภาพคล่องอยู่ในระบบการเงินไทยค่อนข้างมาก ฉะนั้นถ้าเกิดบางช่วงหากเงินจะไหลออกจากระบบการเงินไทยก็จะไม่ส่งผลกระทบให้สภาวะการเงินในประเทศดึงตัวจนทำให้กระทบเรื่องอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ กระทบภาระหนี้ของภาคธุรกิจในประเทศ 3.ที่สำคัญอีกด้าน คือ ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่สูง และได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับลดลง

 ไม่มีสงครามค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวันนี้มีปัจจัยที่เป็นทริกเกอร์ทำให้มุมมองเปลี่ยนไปมาทั้ง 2ข้าง เช่น ราคาน้ำมันแต่ละวันปรับขึ้น 3-4% ซึ่งข่าวเจรจาควบคุมกำลังการผลิตได้หรือไม่ เรื่องสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนจีน หรือเรื่องความเร็วของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ล่าสุดมีเรื่องอังกฤษจะอยู่ต่อในสมาชิกสหภาพอียูหรือไม่ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกิดนอกประเทศ ซึ่งยอมรับว่าความอ่อนไหวต่อข่าวสารนั้นมีผลข้างเคียงซึ่งด้วยระบบเศรษฐกิจเปิดของไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบ

"ที่สำคัญ บางครั้งมีคนพูดว่า ธนาคารกลางดำเนินนโยบาย Currency War แข่งกันลดค่าเงิน ซึ่งผมคิดว่าอันตรายอาจไม่สบายใจ เพราะตรงนี้จะทำให้คนเห็นภาพเข้าใจผิดว่าทิศทางของการเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น แต่ยืนยันธนาคารกลางทุกประเทศต่างต้องคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของการดำเนินนโยบายและช่วงที่ผ่านมาก็เห็นหลายๆ ครั้ง ตัวแปรทางการเงินที่ผันผวนจะมีทั้งขึ้นทั้งลงทั้ง 2 ทาง"

อย่างไรก็ตาม ในภาคเอกชนหลายแห่งมีความระมัดระวังมาขึ้นในการบริหารเงินกู้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำและรายที่มีหนี้ก็จะไม่มีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเพราะขณะนี้มีรายรับและรายจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สมดุลกัน หรือบางรายกู้เงินต่างประเทศเข้ามาก็เพื่อจะลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เป็นภาวะปกติที่เข้าใจและยอมรับว่าตลาดเงินมีความผันผวนต้องให้ความสำคัญเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันการบริหารความเสี่ยงก็เป็น New Normal ที่จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะปัจจัยทั้งประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังค่อยเป็นค่อยไป และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ไม่มากเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ เหล่านี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายผ่อนคลายได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งระบบการเงินโลกที่มีความผันผวนมากจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นซึ่งตลาดมองความเร็วของการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะชะลอลง ดังนั้นสภาพคล่องในระบบการเงินโลกจึงมีความมั่นคงเพียงพอ

 สร้างภูมิคุ้มกัน

ข้อคำถามในภาวะเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันทำให้การทำงานของธปท.น้อยลงเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น "ดร.วิรไท" กล่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงเพราะธปท.เจอสภาวะความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งบทบาทของธปท.ต้องดูในหลายมิติ เสถียรภาพด้านราคา, เสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ เสถียรภาพด้านระบบการชำระเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเอื้อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ ตอนนี้ได้รับแรงผ่อนจากเสถียรภาพด้านราคาในช่วงสั้นๆ แต่ยังมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่จับตามองและคาดการณ์เงินเฟ้อโดยรวมจะกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน สภาพคล่องส่วนเกินจะสูงมากอาจจะเป็นจุดเปราะบาง หรือติดตามใกล้ชิดระบบสถาบันการเงินโดยต้องให้แน่ใจว่ามีกระบวนการดูแลและบริหารความเสี่ยงที่ดีมีกลไกเรื่องตั้งสำรองเงินกองทุนที่เพียงพอ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เอ็นพีแอลจะขยับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นดัชนีตามหลัง และมีหลายด้านท่ามกลางความผันผวนในสภาวะที่อ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก จึงเป็นการบ้านระยะยาวที่ธปท.สบายใจหรือชะล่าใจไม่ได้

"ไม่อยากให้สภาวะอ่อนไหวนั้นเป็นอาการถาวร เป็น New Normal เพราะวัฏจักรของเศรษฐกิจโลกที่สั้นลง มีความผันผวนที่แรงขึ้นสูงขึ้น ซึ่งทุกคนต้องมีความสามารถในการปรับตัวในภาวะความผันผวนที่แรงขึ้นได้ ฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องสำคัญมาก" ดร.วีรไทกล่าวและว่า

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าประสาร ไตรรัตน์วรกุลและผู้บริหารธปท.ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันมาอย่างต่อเนื่องและกันชนต่างๆ ไม่ว่าเป็นเรื่องภูมิคุ้มกันด้านต่างประเทศ แม้กระทั่งนโยบายกำกับระบบสถาบันการเงินที่มีกันสำรองที่เกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ในระดับค่อนข้างสูงมากหากเกิดปัญหาสามารถดึงมาใช้ได้

 บาทบาทแบงก์ชาติ

นอกจากนี้ "ดร.วิรไท" ย้ำถึงบทบาทของธนาคารกลาง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.งานตามพันธกิจหลัก คือ งานรักษาเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ 2. งานด้านพัฒนา 3. ช่วยสร้างธปท.ให้เป็นเลิศในฐานะที่เป็นธนาคารกลาง โดยงานส่วนแรกในภาวะที่มีความผันผวนสูง คือ ให้มั่นใจว่าธปท.ดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เน้นเสถียรภาพ รักษาภูมิคุ้มกัน และรักษาเสถียรภาพที่ทันต่อสถานการณ์

อย่างเช่นปีที่แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลจะจ่ายงบประมาณออกมาได้หรือไม่ได้ ทางธปท.ก็เป็นฝ่ายลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึงสองครั้ง!

ด้านนโยบายสถาบันการเงินก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการทำ Stress Test เป็นความสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถปิดความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงระบบสถาบันการเงิน ซึ่งตลาดทุนก็เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ก็ไปเกี่ยวข้องในตลาดทุนเช่น บลจ. เป็นต้น

เสถียรภาพของระบบชำระเงินเป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประเทศ จึงต้องมั่นใจว่ามีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพสูง และสามารถรองรับประมาณธุรกรรมได้ งานด้านพัฒนาก็มีหลายเรื่องที่เราจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ในเรื่องระบบสถาบันการเงิน อย่างที่เห็นข่าวเรื่อง Financial Master Plan ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้ทั่วถึงมากขึ้นในระดับราคาที่เป็นธรรม เข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน ทำอย่างไรให้ระบบการเงินไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือสถาบันการเงินจะไปต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น และต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดี

อย่างวันนี้จะเห็นว่าเอสเอ็มอีเข้าถึงระบบฐานข้อมูล เข้าถึงสถาบันการเงิน หรืออย่างที่ธปท.กับกระทรวงการคลังกำลังร่วมพัฒนาระบบอี-เพย์เมนต์ แม้กระทั่งเรื่องการสร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศ สถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็เป็นการสร้างองค์ความรู้โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้งคนธปท. และภายนอกที่จะเข้ามาร่วมกัน

สำหรับงานสร้างความเป็นเลิศให้กับองค์กร งานท้าทายจะเปลี่ยนไปตามระบบนิเวศน์ที่จะเกิดขึ้น เพราะระบบการเงินจะเปิดเสรีมากขึ้น พัฒนาการสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นอย่าง Fin-Tech เหล่านี้คนธปท.ต้องมีความรู้ เท่าทันเทคโนโลยี และมีระบบคุ้มกัน โดยด้านหนึ่งปิดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดความเสี่ยงในระบบ อีกด้านหนึ่งส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งธปท.ต้องมีคนที่มีความชำนาญทำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือมีบุคลากรที่เข้าใจเมืองจีนมากขึ้น พวกนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรธปท.ในระยะยาว รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร Core value ที่กำลังพูดถึง คือ ยืนตรง ยื่นมือ มองไกล ติดดิน และอาจจะต้องเติมและเน้น "ผลสัมฤทธิ์" ที่จะเกิดขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559