ยึดอำนาจกลุ่ม IFEC! ผ่าตัดโครงสร้างผู้บริหาร 45 บริษัทย่อย - ปิดทางไซฟ่อนเงิน

01 พ.ย. 2561 | 06:50 น.
กรรมการไอเฟคเข้ม! เตรียมผ่าตัดโครงสร้างบอร์ด-ผู้บริหารบริษัทลูกยกชุด 45 บริษัท ลั่น! ป้องกันทรัพย์สิน-เงินถูกถ่ายโอนออกไป หลังจากบริษัทลูกทั้งหมดที่บริหารโดย "หมอวิชัย-ศุภนันท์" สั่งระงับโอนเงินให้ไอเฟคนานกว่า 2 เดือน มากกว่า 60 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ในเร็ว ๆ นี้ กรรมการของบริษัท (พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ และนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ) จะเข้าไปปรับโครงสร้างบริษัทลูกของไอเฟคทั้ง 45 บริษัท โดยจะเปลี่ยนกรรมการและโครงสร้างผู้บริหารทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ่ายโอนทรัพย์สินหรือนำเงินออกไปใช้ผิดประเภท ทั้งนี้ ไอเฟคถือหุ้น 100% ในบริษัทลูกทุกแห่ง ยกเว้น บริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก.) หรือ I-WIND (ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม) ที่ไอเฟคถือหุ้น 8% ที่เหลืออีก 20% ถือหุ้นโดย นายสุเมธ สุทธภักดิ

โดยบริษัทลูกของไอเฟค ปัจจุบัน มีนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ (หมอวิชัย อดีตประธานกรรมการไอเฟค) นั่งเป็นประธาน และคนใกล้ชิดหมอวิชัย คือ นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ (อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารไอเฟค) นายศุภกร แย้มงามเหลือ (อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอเฟค) และนายวีรศักดิ์ พรรณสวัสดิ์ (เพื่อนหมอวิชัย ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม) เป็นผู้บริหาร


MP17-3414-A

ที่ผ่านมา บริษัทลูกดังกล่าวจะต้องโอนเงินให้ไอเฟค เนื่องจากเป็นเงินค่าบริหาร (ด้านวิศวกร, การบริหารด้านบัญชี ฯลฯ) ประมาณเดือนละ 30 ล้านบาท แต่ได้หยุดนำส่งมานานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่กลับโอนเงินจำนวนนี้เข้า บจก.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ หรือ "ไอ-เทอมอล" บริษัทลูกอีกแห่งแทน

"กรรมการไอเฟคกังวลว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างผู้บริหาร อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลของทรัพย์สินและการใช้เงินผิดประเภทได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่บริษัทในที่สุด เพราะขณะนี้ ไอเฟคไม่ต่างกับการถูกตัดท่อนํ้าเลี้ยง เพราะไม่ได้รับเงินนำส่งจากบริษัทลูก 30 ล้านบาทต่อเดือน เจตนาของผู้กระทำก็เพื่อไม่ให้บริษัทบริหารงานได้และไม่สามารถดำเนินการจัดเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ได้ และเรายังกังวลว่า บริษัท I-WIND ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำรายได้มากสุด มีกระแสเงินสด (Cash Flow) ในขณะนี้ ประมาณ 215 ล้านบาท จะถูกถ่ายโอนหรือใช้เงินไปในทางที่ผิดหรือไม่"

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. กำลังจับตาดูว่าจะหาความผิดจากกรณีนี้ได้อย่างไร เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ ก.ล.ต. สามารถเข้าไปดำเนินการกับบริษัทลูกได้ เนื่องจากเป็นบริษัทจำกัด (บจก.) ไม่ใช่บริษัทมหาชน (บมจ.) อย่างไรก็ดี ทั้งหมอวิชัยและนายศุภนันท์ต่างถูก "ให้ออก" ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ถือเป็นความผิดรุนแรง ทุจริตผู้ถือหุ้น และมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ จึงไม่สามารถเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างน้อย 5 ปี


logo

"กรณีหมอวิชัยถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษไป 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 และเมื่อ 26 ก.พ. 2561 รวมเท่ากับ 10 ปี ขณะที่ นายศุภนันท์ถูกกล่าวหาว่า 'อินไซเดอร์' ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ในการขายหุ้นไอเฟค และไม่ใช้หนี้มูลหนี้ 30 ล้านบาท และกำลังจะโดนมาตรา 89/7 ตามมา ซึ่งตามหลักกฎหมายไม่สามารถที่จะไปนั่งบริหารในบริษัทใด ๆ ด้วยซํ้า"

ต่อเรื่องนี้ นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ กรรมการไอเฟค กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นับตั้งแต่ตนและ พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ เข้ามาบริหารที่ไอเฟค หมอวิชัยได้สั่งตัดเงินไม่ให้เข้าบริษัท ทำให้ไม่มีเงินที่จะจ้างพนักงานใหม่ รวมถึงเงินที่จะใช้จัดประชุมวิสามัญเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ จึงต้องใช้เงินส่วนตัวไปก่อน และในเร็ว ๆ นี้ ตนจะแจ้งประชุมกรรมการบริษัททั้ง 45 แห่ง ซึ่งกำลังให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการ ก่อนที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร

 

[caption id="attachment_340111" align="aligncenter" width="241"] ฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ ฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ[/caption]

ก่อนหน้านี้ กรรมการไอเฟคได้มีคำสั่งให้พนักงานออกประมาณ 58 ราย เนื่องจากไม่มารายงานตัวภายใน 7 วัน และนำเอกสาร-อุปกรณ์ออกนอกบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานดังกล่าวกระทำตามคำสั่งของหมอวิชัย โดยได้ย้ายไปทำงานที่ บจก.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเมนท์ หรือ I-CAP

ส่วนความคืบหน้าหลังจากศาลล้มละลายกลาง (29 ต.ค. 61) มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไอเฟค โดยให้เหตุผลเนื่องจาก นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ไม่สามารถทำแผนได้ ประกอบกับผู้ร้องขอเพิ่งมายื่นบัญชี และมิได้เตรียมพยานมาไต่สวนตามคำร้องของผู้ร้อง

นายฉัตรณรงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ บริษัทจะเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 ซึ่งหลังจากได้รับเอกสารเพิ่มเติมจากผู้สมัครกรรมการแล้ว ถูกคัดทิ้ง 60 ราย คาดว่าเราจะใช้เวลาตรวจสอบก่อนจะส่งให้ ก.ล.ต. และภายในวันที่ 5 พ.ย. จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประกาศรายชื่อของกรรมการที่ผ่านคุณสมบัติจาก ก.ล.ต. ก่อนที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการไอเฟค ในวันที่ 10 พ.ย. เพื่อกำหนดวันและสถานที่ โดยคาดว่าการจัดประชุมเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ธ.ค. หรือ ไม่เกินวันที่ 16 ธ.ค. 2561


หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,414 วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62-7