IFTF แนะคนไทยรับมือเทคโนโลยีเร่งพัฒนาทักษะ วิเคราะห์บิ๊กดาต้า...สู่อนาคต

25 ต.ค. 2561 | 04:07 น.
งานวิจัย เป็นชิ้นงานที่สำคัญสำหรับการคาดเดาอนาคต หากแต่ “ฌอน เนส” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสถาบันเพื่ออนาคต (Institute for the Future - IFTF) สหรัฐอเมริกา ยํ้าแล้วยํ้าอีกว่า “ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ การคาดการณ์อนาคต ไม่ใช่การทำนายอนาคต” สิ่งที่สถาบัน ได้ดำเนินการมีเพียงแต่คาดการณ์แนวโน้ม หรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น โดยการสังเกตและติดตามข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ดูจากอิทธิพลของเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านที่มีต่อมนุษย์ ควบคู่กับพฤติกรรมที่มนุษย์ตอบสนองต่อกระแสเทคโนโลยีนั้นๆ จากประสบการณ์ของสถาบัน พบว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะคาดการณ์อนาคตในช่วงระยะเวลา 3-12 ปี เพื่อให้การกำหนดทิศทางองค์กรเป็นไปได้จริง

BB4A7204

การตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยี กับไทยแลนด์ 4.0 เป็นเรื่องที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับงานของสถาบันเพื่ออนาคต หรือ IFTF ซึ่งหลายประเทศได้ใช้หลักการของการมองอนาคต (Foresight) เป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาว ที่สามารถนำมาใช้ในทุกๆ ระดับตั้งแต่ระดับองค์กร จนถึงระดับประเทศ รวมถึงได้ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการมองอนาคตมาใช้ในการวางนโยบายของประเทศ

“ฌอน” บอกว่า หลายๆ ประเทศมีการวางแผนระยะยาว เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแนวทางของแผนการพัฒนาประเทศ ที่จะกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าเราจะเดินดุ่มๆ ไปโดยไม่อะไรเป็นไกด์หรือแผนที่ในการเดินทาง

ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ คนนี้ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาธุรกิจที่สถาบันเพื่ออนาคต เขาเข้ามาร่วมงานกับ IFTF เมื่อปี 2547 และในปี 2549 ได้ร่วมก่อตั้ง STIRR Network กลุ่มที่ช่วยกระตุ้นการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการช่วงเริ่มต้น ใน Silicon Valley ภารกิจของ IFTF คือ การเป็นผู้นำด้านความคิดให้กับองค์กรต่างๆ ได้วางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคต เนื่องจากงานวิจัยด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมีเป็นจำนวนมาก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้งานวิจัยชิ้นใดที่จะสามารถขายในท้องตลาดได้ ดังนั้น IFTF จึงศึกษาข้อมูลเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่เหมาะสม

ในฐานะของคนที่ทำงานอยู่กับเรื่องของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก “ฌอน” บอกว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ มาจากความต้องการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีอยู่ 3 ด้าน ที่เทคโนโลยีจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้แก่ การศึกษา การคมนาคมและโลจิสติกส์ และสถานที่ทำงาน ซึ่งทุกคนสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปกับโลกของการเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการพัฒนาทักษะ และสร้างตัวตนของตัวเอง ให้เป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง และได้รับการตอบรับจากสาธารณะในเชิงบวก เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างโพรไฟล์ของตัวเอง

ทักษะในด้าน  Hard Skills หากรู้วิธีรับมือกับหุ่นยนต์ รู้วิธีการสร้างระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ ย่อมมีความได้เปรียบกว่า และด้าน Soft Skills มองว่าทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation) และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) จะเป็น 2 ทักษะสำคัญที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกับมนุษย์

BB4A7223

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสถาบันเพื่ออนาคตคนนี้ ให้ความสำคัญมากๆ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ต้องให้ความสำคัญในด้าน “จริยธรรม” มากขึ้น ศึกษาดูว่าจะสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับมนุษย์หรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนคน ทำให้คนบางกลุ่มต้องตกงาน หรือการออกแบบ VDO game ที่ส่งผลให้เกิดการเสพติดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน Apples เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้แล้ว และปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนต่างๆ โดยให้ผู้ใช้เป็นผู้กำหนดการตั้งค่าการเข้าถึงหรือการอัพเดตต่างๆ โดยได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ก่อนทุกครั้ง หรือการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ใช้ เช่น การพัฒนาช้อนสำหรับผู้มีอาการมือสั่น เพื่อช่วยสร้างกำลังใจให้เขาสามารถกลับมาตักอาหารได้ด้วยตัวเอง

ความใส่ใจในจริยธรรม และความรู้สึก ของผู้ใช้ หรือผู้ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องอาศัยการสังเกตและเก็บข้อมูลที่เอื้อต่อการใช้งานโดยอาศัยการพูดคุยกับทีมการตลาด ทีมการขาย ทีมวิศวกร เพื่อให้ได้มุมมองหลากหลาย แล้วนำมาต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด

ในมุมมองของ “ฌอน” สำหรับประเทศไทย เขามองเห็นว่า ไทยมีศักยภาพด้านการเกษตร และอาหารค่อนข้างสูง เพราะมีความหลากหลาย หากสามารถพัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีมูลค่าสูงขึ้น ย่อมช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล นำ Big Data มาวิเคราะห์-วิจัย ก็จะทำให้สามารถนำไปสร้างโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และอาหารได้ “ฌอน” ยํ้าในตอนท้ายว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์เท่านั้น ดังนั้นหัวใจที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณค่าของมนุษย์นั่นเอง

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859