สุนัขจรจัดอาศัยอยู่บริเวณบ่อขยะ ไล่กัดนกกระจอกเทศ-ราชการชดใช้ด้วย!!

20 ต.ค. 2561 | 04:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคมมากมาย ทั้งการแพร่เชื้อโรคและอันตรายจากการไล่กัดหรือทำร้ายผู้คนหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น และถึงแม้ว่าทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การสร้างศูนย์รับเลี้ยงสุนัขจรจัด การทำหมัน ฉีดวัคซีน แต่ปัญหาก็มิได้ลดลงให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก...ยังคงมีข่าวตามสื่อต่างๆ ให้ได้เห็นได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง

ดังเช่นอุทาหรณ์คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้...ครับ

มูลเหตุเกิดจากเจ้าของ ฟาร์มนกกระจอกเทศอ้างว่า สุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่บริเวณบ่อขยะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ไล่กัดนกกระจอกเทศที่เลี้ยงในฟาร์มตั้งห่างจากบ่อขยะประมาณ 600 เมตร ตั้งแต่ปี 2545 ในปี 2550 มีนกกระจอกเทศเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ 46 ตัว ในปี 2553 เหลือเพียง 26 ตัว ในปี 2555 เหลือเพียง 23 ตัว ซึ่งผลจากการถูกสุนัขจรจัดไล่กัด ทำให้แม่พันธุ์นกกระจอกเทศไม่ออกไข่ตามปกติ และออกไข่น้อยลงทำให้รายได้จากการขายไข่ลดลงกว่าเดิม

ก่อนฟ้องคดีนี้ เจ้าของฟาร์มนกกระจอกเทศได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการกับสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่บริเวณบ่อขยะ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด จึงฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมสุนัขจรจัด (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542) และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน)

ข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ครับ

เรื่องแรก คือ อายุความฟ้องคดี กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมสุนัขจรจัด เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2553 และลงวันที่ 3 มีนาคม 2554 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการกับสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่บริเวณบ่อขยะ แต่มิได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีจึงมีอยู่ตลอดมา จนถึงวันที่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จึงถือว่ายื่นฟ้องภายในระยะเวลา การฟ้องคดีตาม มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

TP7-3411-A

เรื่องที่ 2 คือ อายุความฟ้องคดี ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2545 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2554 เป็นการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี คงฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะในช่วงวันที่ 9 มกราคม 2554-9 มกราคม 2555 เท่านั้น ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

เรื่องที่ 3 คือ ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลกับปศุสัตว์ ว่า หน่วยงานของรัฐแห่งใดมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมสุนัขจรจัด

ศาลปกครองสูงสุดท่านวินิจฉัยคดีนี้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ครับ โดยท่านอธิบายว่าสุนัขถือเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ซึ่งควรจะต้องมีเครื่องหมายประจำสัตว์ เมื่อมีการพบเห็นสุนัขในบริเวณบ่อขยะ โดยไม่ปรากฏเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืนภายใน 5 วัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการควบคุมสุนัขจรจัดเพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ หรือคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 67 และมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการกับสุนัขจรจัดที่อาศัยบริเวณบ่อขยะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และเมื่อการละเลยต่อหน้าที่ทำให้สุนัขมารบกวน ไล่ต้อน รุมเห่าและรุมกัดจนส่งผลให้นกกระจอกเทศของผู้ฟ้องคดีเกิดอาการหวาดผวา เครียด ตกใจกลัว และไม่ออกไข่ตามปกติ ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีรายได้จากการประกอบอาชีพลดลง อันเป็น การกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ส่วนค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีมีจำนวนเท่าใด ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาต่อได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1751/2559

คดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกัน ระงับและควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์ และกฎหมายได้ให้อำนาจในการควบคุมกักขังสัตว์ที่พบในที่สาธารณะ หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ถือว่าเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่

และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายดังกล่าวด้วย

(ปรึกษาคดีปกครอง ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3411 ระหว่างวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62