ธ.โลกเตือนปัญหาการค้า ป่วนค่าเงินทำประเทศยากจนหนี้พุ่ง

17 ต.ค. 2561 | 09:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือภาวะการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว และปัญหาหนี้สินที่กำลังก่อตัวมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารายได้ตํ่า

นายจิม ยง คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวภายหลังการประชุมประจำปีระหว่างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียว่า ท่ามกลางบริบทดังกล่าวข้างต้น และภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า การค้ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับประเทศยากจน และหากโลกต้องการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป ก็จำเป็นจะต้องสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการทำการค้า แต่ภาวะที่เป็นอยู่ก็คือ การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างประเทศมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศยากจนก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในการประชุมประจำปีครั้งนี้ สาระสำคัญที่ธนาคารโลกต้องการนำเสนอให้เห็นก็คือ ทุกประเทศควรจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดจากการเผชิญหน้าทางการค้า ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทำความเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้างเมื่อเกิดสงครามการค้าและควรจะต้องรับมืออย่างไร Jim-Yong-Kim1

“สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องทำนั้นชัดเจนมาก นั่นคือต้องจัดสมดุลทางการคลังให้ดี ต้องมีนโยบาย ทางการเงินที่เหมาะสม และนโยบายการเงินนั้นต้องไม่ปั่นค่าเงิน” หัวเรือใหญ่เวิลด์แบงก์กล่าว และยอมรับว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก และถ้าหากประเทศอื่นๆหันมาใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีใส่กันก็จะส่งผลกระทบฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน “นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อประเทศต่างๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนที่ต้องส่งออกสินค้าและบริการมายังประเทศจีน TP10-3410

อีกประเด็นที่เวิลด์แบงก์เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดคือการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ที่กำลังแข็งค่าขึ้น และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่กำลังแบกหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ต้องมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าประเทศที่มีภาระหนี้สกุลเงินดอลลาร์มากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผลกระทบก็จะสร้างแรงสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆได้มาก

นอกเหนือจากการแข็งขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว อีกสกุลเงินที่อาจสร้างปัญหาคือ เงินหยวนของจีนที่กำลังอ่อนค่าลงและอาจนำไปสู่ประเด็นเผ็ดร้อนทางการค้ามากยิ่งขึ้น เมื่อฝั่งสหรัฐฯเริ่มมีความกังวลว่า จีนตั้งใจปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงอย่างมากหรือไม่ กระทั่งนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ต้องมาออกโรงปรามจีนผ่านสื่อเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เงินหยวนหรือในชื่อทางการว่า เหรินหมินปี้ อ่อนค่าลงมากตลอดช่วงปีนี้ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงอยากให้ประเด็นเรื่องค่าเงินถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯด้วย

นับตั้งแต่ต้นปีมากระทั่งถึงวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เงินหยวนอ่อนค่าลงมาแล้ว 6.5% (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ) ท่ามกลางแนวโน้มที่ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวที่อัตราน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งแรงขึ้น นักวิเคราะห์คาดหมายว่า เงินหยวนยังจะอ่อนลงได้อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งน่าจะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งล่าสุด 10% รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์มีผลตั้ง แต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯรวมวงเงิน 60,000 ล้านดอล ลาร์ มีผลในเวลาไล่เลี่ยกัน) และขู่ว่าจะขยับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

...........................................................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62-7