"ยาง-ปาล์ม" บุกถ้ำพาณิชย์! จี้เร่งแก้ปัญหาราคารูดหนัก

11 ต.ค. 2561 | 11:39 น.
ตัวแทนเกษตรกรภาคตะวันออกบุกพาณิชย์ ยื่น 7 ข้อ "สนธิรัตน์" ช่วยแก้ราคายางตกต่ำ ส่วนปาล์มจี้ปราบปรามน้ำมันปาล์มเถื่อน เพิ่มใช้ผลิตไบโอดีเซล ด้าน พาณิชย์ชี้ที่ผ่านมาช่วยต่อเนื่องอยู่แล้ว โบ้ยบางประเด็นเป็นของหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ

นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิล รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า กลุ่มตัวแทนผู้ปลูกยางพาราภาคตะวันออก ได้ยื่นหนังสือผ่าน นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาราคายางพาราและสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกยางพารา ส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน เพื่อให้ราคาปรับตัวดีขึ้น ซึ่งในภาพรวมเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออกยางพารา แต่บางประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรให้


พาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเกษตรกร นำโดย นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ รองนายกองค์การส่วนบริหารจังหวัดชลบุรี, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดชลบุรี, นายศุภชัย ธาราธนวัตร นายกสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก, นายไพชยนต์ กังวลกิจ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี และแกนนำเกษตรกรฯ จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตเกษตรที่มีราคาตกต่ำอย่างมาก (ยางพาราและปาล์มน้ำมัน)

โดยเอกสารระบุว่า ประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรในเขต อ.บ่อทอง และพื้นที่ใกล้เคียง ได้ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตเกษตรที่มีราคาตกต่ำ ผู้ประกอบอาชีพได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ได้ข้อสรุปแยกเป็นประเด็น ดังนี้ 1.ขอทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการนำยางพาราไปใช้เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ เช่น การนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมทดแทนวัสดุอื่นในการทำถนน ลานกีฬา ลู่วิ่ง ฯลฯ


สวนยาง

2.ขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนระยะสั้น โดยออกมาตรการให้เงินชดเชยให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยไม่เห็นด้วยกับการลดปริมาณยางฯ โดยการพักการกรีด 3 เดือน และให้เกษตรกรไปฝึกอาชีพ, 3.ขอให้รัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทย (กยส.) หยุดเก็บเงินเซสส์ (CESS) ชั่วคราว ที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยการนำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง โดยชดเชยราคาผลผลิตคืนให้กับเกษตรกรโดยตรง และควรใช้มาตรา 44 ปรับปรุงกฎหมายฯ แก้ไขสัดส่วนการใช้เงินกองทุนฯ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

4.ขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดเขตพืชเศรษฐกิจ หรือ กำหนดพื้นที่ทำโซนนิ่ง (Zoning) อย่างชัดเจน โดยประกาศเป็นพันธะสัญญาร่วมกันในการทำข้อตกลงฯ ในการปลูกพืชฯ เศรษฐกิจในเขต, 5.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีความร่วมมือระดับพหุภาคีกับประเทศคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยแก้ไขระเบียบให้เกิดการส่งเสริมสำนักงานการค้า หรือ ตัวแทนการค้า ที่สามารถแข่งขันได้จริงในประเทศเป้าหมายและตลาดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้สินค้าเกษตรโภคภัณฑ์และเกษตรแปรรูปของไทย และเป็นช่องทางการคานอำนาจของเกษตรกรฯ

6.ขอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการซื้อขาย-แลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับต่างประเทศ, 7.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรบนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน (สปก.) และเอกสารสิทธิที่ไม่ได้รับรองจากกฎหมายฯ ให้สามารถซื้อขาย ครอบครอง เป็นหลักประกันสินเชื่อ และสามารถเปลี่ยนมือกันได้อย่างถูกต้อง และสามารถปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างประเภทถาวรในเอกสารสิทธิ์ได้

ส่วนเรื่องปาล์มน้ำมัน 1.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจาก B7 เป็นน้ำมันไบโอดีเซล B20 เพิ่มขึ้น, 2.ขอให้รัฐบาลกำหนดปาล์มเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับยางธรรมชาติ, 3.ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในลักษณะสหกรณ์ฯ ผู้ปลูก เพื่อเป็นการคานอำนาจระหว่างชาวสวนกับโรงงาน, 4.ปราบปรามน้ำมันปาล์มเถื่อนอย่างจริงจัง และ 5.ส่งเสริมและยกระดับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่


ปาล์ม

จากการตรวจสอบราคายางพารา ณ วันที่ 9 ต.ค. 2561 ณ ตลาดท้องถิ่น จ.สงขลา ราคายางแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 38.90 บาท/กิโลกรัม (กก.), น้ำยางสด (ณ โรงงาน) อยู่ที่ 40.50 บาท/กก. ส่วนราคาผลปาล์มน้ำมันในภาคใต้ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยที่ 2.80-3.25 บาท/กก.

595959859