ปปง.สั่งอายัดทรัพย์สิน 210 ล้าน เครือข่ายโกงบิตคอยน์ชาวฟินแลนด์

11 ต.ค. 2561 | 06:22 น.
เว็บไซต์สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) www.amlo.go.th เผยแพร่ คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 1742561 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ของนายปริญญา จารวิจิต กับพวก รวม 64 รายการ วงเงินรวมกว่า 210 ล้านบาท จากกรณีฉ้อโกง นายเออาร์นี โมตาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ ที่โอนเหรียญบิตคอยน์คิดเป็นเงินบาทไทยกว่า 797 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจ โดยคำสั่งดังกล่าว สั่ง ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

แบ่งเป็น บัญชีเงินฝากของนายปริญญา 6 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 2 บัญชีมีเงินฝากรวมกัน 6.6 ล้านบาท อีก 4 บัญชีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ นางสาวสุพิชฌาย์ จารวิจิต จำนวน 3 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 1 บัญชีมีเงินฝาก 24.8 ล้านบาท อีก 2 บัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบ นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต จำนวน 5 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 2 บัญชี 4.9 ล้านบาท อีก 3 บัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบ บัญชีเงินฝากนายธนสิทธิ์ จารวิจิต จำนวน 7 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 5 บัญชี มีเงินฝากประมาณ 1.8 ล้านบาท อีก 2 บัญชีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นางเลิศฉัตรกมล จารวิจิต จำนวน 11 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 2 บัญชี พบเงินในบัญชีรวม ประมาณ 57 ล้านบาท อยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 9 บัญชี นายสุวิช จารวิจิต จำนวน 4 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 1 บัญชี มีเงินฝาก 1.1 แสนบาท อีก 3 บัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบ

นายชาคริส อาหมัด จำนวน 2 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 1 บัญชี มีเงินฝาก 1.3 ล้านบาท อีกบัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบ นางอัจราพร ต่อวงศ์ 2 บัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบ นายอนรรฆ ศรีนภาสวัสดิ์ 7 บัญชี ตรวจสอบแล้ว 1 บัญชี มีเงินฝาก 1.4 แสนบาท นอกนั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ 1 บัญชี 20 ล้านบาท นายปัณณ์ฉัตร ชยุตธนา 1 บัญชี 44 ล้านบาท

นอกจากนี้ปปง.ยังอายัดที่ดินตามโฉนด ของนายปริญญาจำนวน 3 แปลง ราคาประเมิน 38 ล้านบาท สิทธิเรียกร้องเหนือที่ดินตามโฉนดอีก 4 แปลง ราคาประเมิน 86 ล้านบาท ที่ดินตามโฉนดและสิทธิเรียกร้องเหนือที่ดินตามโฉนดของนางสาวสุพิชฌาย์ 6 แปลง ราคาประเมิน 8.5 ล้านบาท และ สิทธิเรียกร้องเหนือที่ดินตามโฉนดที่ดินของนายจิรัชพิสิษฐ์ 1 แปลง ราคาประเมินกว่า 43 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลในการอายัด ในเอกสารระบุว่า ด้วยสํานักงาน ปปง. ได้รับรายงานจาก กองบังคับการปราบปราม ลงวันที่ 5ก.พ.2561 เรื่อง รายงาน ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ราย นายปริญญา จารวิจิต กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับ การฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2560 นายปริญญา กับพวก ได้ร่วมกันวางแผนและสมคบกันหลอกลวง โดยชักชวนให้ นายเออาร์นี โมตาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ ร่วมลงทุนซื้อหุ้นกับบริษัท Expay Software จํากัด และ Nx Chain Inc. ลงทุนประกอบธุรกิจซื้อ - ขาย สกุลเงินดิจิตอล ในชื่อ dragon Coin (DRG) และซื้อหุ้นของบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จํากัด (มหาชน) โดยอ้างว่าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นเหตุให้ นายเออาร์นี หลงเชื่อลงชื่อในสัญญาที่ฝ่ายนายปริญญา ทําขึ้น และโอนเหรียญบิตคอยน์ ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลไปเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กลุ่มของนายปริญญา เปิดรองรับไว้รวม 19 ครั้ง คิดเป็นเงินบาทไทย จํานวน 797,408,454.33 บาท

ต่อมานายอาอาร์นี ไม่ได้รับหุ้นครบตามสัญญาและไม่ได้มีการนําเงินไปลงทุนจริงตามที่ตกลงกัน จึงทราบว่าถูกนายปริญญา กับพวกหลอกลวง และจากการตรวจสอบข้อมูลบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่รับโอนเหรียญบิตคอยน์จาก นายเออาร์นี เป็นบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลต่าง ๆ ที่ร่วมกันหลอกลวง และได้มี การขายเหรียญบิตคอยน์ผ่านระบบการซื้อขายในอินเทอร์เน็ตแล้ว จึงนําเงินที่ได้จากการขาย โอนไปเข้าบัญชีที่เปิดรองรับไว้ ส่วนเหรียญบิตคอยน์ที่เหลือได้ทําการโอนออกไปยังบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นอกจากนี้พบข้อมูลว่ามีการนําเงินไปรับซื้อฝากที่ดินและซื้อที่ดินหลายแปลงในชื่อของนายปริญญา กับพวก อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(18) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายปริญญากับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว

ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพ.ร.บ.ปปง. ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการปปง. ที่ ม. 494/2561 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2561 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการความผิดการกระทำรายนายปริญญา กับพวก

พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงาน การทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายปริญญา กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(18) และมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ปปง. หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูล การทําธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 64 รายการ พร้อมดอกผล

และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชี เงินฝากธนาคาร และสิทธิเรียกร้อง อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทาง ทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีสิทธิ ในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมา ศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง, อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายปริญญา กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34(3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ปปง. และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมี คําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 64 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 โดยมีรายการทรัพย์สินที่อายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้ ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

ในกรณีผู้ซึ่งถูกอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์จะ ขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอต่อเลขาธิการปปงพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคําสั่งนี้

อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้ หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินอาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพ.ร.บ.ปปง.

อ่านรายละเอียด http://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2561/174-2561.pdf