‘บีเอซี’ระดมทุน 1.5 พันล้าน ปั๊มนักบินเท่าตัวแก้ขาดแคลน

30 พ.ค. 2559 | 08:53 น.
"บีเอซี" พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสบช่องนักบินขาดแคลนหนักวางแผนนำบริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯหวังเม็ดเงิน 1.5 พันล้านบาทลงทุนขนานใหญ่ รองรับแผนผลิตนักบินเพิ่มปีละ 500 คน ปั้นรายได้จากค่าเรียนหัวละ 2.5 ล้านบาท เบื้องต้นจะใช้งบ 450 ล้านบาทซื้อเครื่องบินอีก 26 ลำซื้อที่ดิน 100 ไร่ ด้าน"จุฬา"ชี้ชัดปัญหานกแอร์เพราะนักบินขาดหนัก ลั่นไทม์ไลน์ปลดล็อกธงแดง ICAO สิ้นปีนี้

นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัดหรือ (บีเอซี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ามีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนครั้งใหญ่นำมาขยายธุรกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอได้ช่วงกลางปีนี้

การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำมาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรผลิตนักบินจากปีละ 250 คนในปีนี้เป็น 300 คนในปีหน้าและคาดว่าปี 2561 น่าจะเพิ่มเป็น 500 คน โดยจะมีการลงทุนด้าน การสร้างรันเวย์ อาคารเรียน ซื้อเครื่องบินฝึกเข้ามาเพิ่มอีก 26 ลำ จากเดิมมีอยู่ 26 ลำเป็นเครื่องบินรุ่น Cessna C-172 ราคาลำละ 10-12 ล้านบาท รวมถึงการซื้อที่ดินเป็นของตัวเองจากเดิมที่เช่าอยู่ 100 ไร่ ราคาไร่ละ 2 ล้านบาท เป็นการลงทุนซื้อทรัพย์สินเป็นของตัวเองทั้งที่ดินและเครื่องบินซึ่งการซื้อเครื่องบินด้วยเงินสดจะประหยัดกว่าการเช่าซื้อร่วม 25%

"บีเอซีมีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท มีบุ๊กแวร์ลูว์ 300 ล้านบาท มีแผนจะระดมทุน 1.5 พันล้านบาท แต่จะเริ่มที่ 1 ใน 3 หรือ 450 ล้านบาทก่อน เพื่อนำมาขยายการลงทุนในระยะเริ่มต้นเพื่อรองรับการผลิตนักบินพาณิชย์ที่ขาดแคลนอย่างหนัก จนเกิดการซื้อตัวกันขึ้นเนื่องจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทยและภูมิภาค รวมถึงการรองรับสายการบินต่างๆ ที่ส่งนักเรียนเข้ามาฝึกอบรมเป็นจำนวนมากและแนวโน้มนักเรียนทุนส่วนตัวที่มีความต้องการเข้ามาเรียนเป็นนักบินเริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยคิดค่าเรียน 1 ปี อยู่ที่ 2.5 ล้านบาท สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัว จะได้ชั่วโมงบินเครื่องบินเล็ก 200 ชั่วโมงสามารถนำไปสมัครงานกับสายการบินต่าง ๆ แต่ต้องไปฝึกต่ออีก 6 เดือนตามชนิดของเครื่องบินนั้นๆ "

อย่างไรก็ดี ประธาน บีเอซี ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2559 บริษัทสามารถผลิตนักบินได้ปี 250 คน ส่วนแรกป้อนให้กับสายการบินหลัก 3 สายคือ การบินไทย ปีละ 60 คน ไทยแอร์เอเชียปีละ 90 คน และไทยสมายล์ปีละ 30 คนส่วนที่ 2 เป็นนักเรียนทุนส่วนตัวที่เข้ามาเรียนหลักสูตร 1 ปี และส่วนที่ 3 เป็นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาส่งนักเรียนภาควิชาการบิน เข้ามาฝึกอบรมภาคปฏิบัติปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยรังสิต ปีละ 50 มหาวิทยาอัสสัมชัญ(เอแบค) อีกปีละ 30-40 คน

"ในส่วนนักเรียนทุนส่วนตัวเริ่มมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแต่ที่ผ่านมามีมาสมัครราว 200 คน แต่ผ่านคุณสมบัติเพียง 60 คนต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกแอร์ สจวร์ต ที่บินอยู่แล้วแต่ต้องการผันตัวเองมาเป็นนักบินเพราะรายได้ดีกว่า และเราเป็นสนามบินที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุดจึงได้เปรียบผู้ที่มาเรียนยังสามารถทำงานได้ ซึ่งยังมีการการันตีเรียนจบแล้วไม่มีงานทำจะรับเป็นครูฝึกนักบินมีรายได้เดือนละ 6 หมื่นบาทสามารถสะสมชั่วโมงบินได้ ปัจจุบันมีนักเรียนต่างชาติอยู่ราว 5 % และเรามีมาร์เก็ตแชร์ถึง 90 % ของการผลิตนักบินใหม่ในแต่ละปี "

สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยขณะนี้ขาดนักบินเป็นจำนวนมากจนถึงขั้นส่งผลกระทบต่อสายการบินต่างๆ จนเป็นเหตุให้ยกเลิกเที่ยวบินนั้น นายปิยะ ให้ความเห็นว่า เนื่องมาจากการซื้อตัวนักบินที่มีอยู่อย่างจำกัดเมื่อสายการบินหนึ่งซื้อตัวไปก็จะกระทบอีกสาย อย่างนกแอร์ถูกไทยไลอ้อนแอร์ซื้อตัวไป ทำให้เกิดปัญหาต้องหานักบินเข้ามาทดแทนหาไม่ทันก็กระทบกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และรวมถึงการรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินด้วย โดยเฉพาะนักบินที่บินกับเครื่องบินรุ่น แอร์บัส 320 และโบอิ้ง 737 เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะสายการบินต้นทุนต่ำนิยมใช้กันมากเพราะมีระยะการบิน 2-3 ชั่วโมง มีจำนวนที่นั่ง 180-200 ที่นั่ง ขณะนี้สายการบินต่าง ๆ เริ่มมีการทยอยรับมอบทำให้เกิดการแย่งตัวซื้อตัวนักบินเกิดขึ้น

ทางด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการซื้อตัวนักบินว่ามาจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทย และทั้งโลก โดย 60 % เป็นการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และที่ใช้เครื่องบินในขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความต้องการนักบินเป็นจำนวนมากเนื่องจากการเพิ่มเที่ยวและการซื้อเครื่องบินเพิ่ม แต่การผลิตนักบินแต่ละคนต้องใช้เวลา

ส่วนปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันของสายการบินนกแอร์ปัญหาหลักมาจากนักบินไม่พอ และไม่สามารถบินเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนดได้ วิธีการแก้ไข จึงต้องลดเที่ยวบินหรือบางเที่ยวบินต้องยกเลิกไปเลย เพราะนักบินนกแอร์หายไปพร้อม ๆ กันถึง 30 คน จึงเกิดปัญหาอีกทั้งเขายังมีเรื่องปัญหาภายในด้วย เมื่อนักบินไม่พร้อมบินเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน แต่สายการบินอื่น ๆ เมื่อมีปัญหายังสามารถบริหารจัดการได้ การแก้ไขระยะยาวต้องผลิตนักบินเพิ่ม

ขณะเดียวกัน ทย.ได้ เสนอแผนแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5แบ่งออกเป็น 4 แผนหลัก ๆ ดังนี้คือ 1.ความก้าวหน้าในการจัดตั้ง กทพ. และการสรรหาผู้อำนวยการ คาดจะได้ตัวทั้งหมดภายสิ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ 2.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมอินสเปกเตอร์หรือผู้ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ตามที่ ครม.เคยเห็นชอบ นำมาบรรจุไว้ในแผนอีกครั้งว่าช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมนี้จะเริ่มมีการฝึกอบรมได้ 2 ส่วน ส่วนแรกในเรื่องที่เกี่ยวกับการบิน 17 คน ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เรื่องของความสมควรเดินอากาศ 52 คน

3.แผนเกี่ยวข้องกับการตรวจใบรับรองเดินอากาศใหม่ (AOC) แบ่งสายการบินออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีความพร้อมก่อน 7 สายการบิน 2.กลุ่มที่ 2 อีก 13 สายการบิน กลุ่มที่ 3 อีก 8 สายการบิน รวมเป็น 28 สายการบินที่บินระหว่างประเทศ ส่วนสายการบินในประเทศอีก 13 สายการบินหากพร้อมก็จะดำเนินการต่อไป และแผนที่ 4 คือ เป็นการร่วมมือกับสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนยุโรปหรือเอียซ่า เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งจะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ โดยพยายามจะปลดธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ดี วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน 20 เที่ยวบิน ใน 10 เส้นทางบิน คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการไม่ต่ำกว่า 3 พันคน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากได้ให้สายการบินพันธมิตรช่วยทำการบินแทน อาทิ การบินไทย ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ พร้อมมีทางออกให้ผู้โดยสาร 3 แนวทางคือ 1. ให้เลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม 2. เปิดกว้างให้แจ้งเลื่อนเที่ยวบินภายในเวลา 3 เดือนและ 3. การยกเลิกเที่ยวบิน โดยบริษัทจะคืนเงินค่าตั๋วให้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559