Management Tools : Balanced Scorecard คิดอะไรต้องสมดุล

10 ต.ค. 2561 | 05:26 น.
65656565
นักศึกษาจีน ไปใช้ชีวิตในชนบทยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในดินแดนมองโกเลียไกลโพ้นเห็นฝูงหมาป่ามองโกล กำลังล่าเหยื่อฝูงละมั่ง

“ทำไมเราไม่ฆ่าหมาป่า เพื่อให้ฝูงละมั่งรอด” นักศึกษาถามหัวหน้าเผ่า

“หากละมั่งมีมากไป ก็จะกินหญ้าที่มีอยู่น้อยให้หมด ผืนหญ้าช่วยให้เราอยู่รอดได้”

“แล้วทำไม เราไม่ฆ่าละมั่ง หากมันเป็นภัยต่อผืนหญ้า”

“ถ้าละมั่งหมด หมาป่าจะไม่มีอาหาร กลับมาทำร้ายแกะที่เราเลี้ยง” หัวหน้าเผ่าตอบ

เป็นบทสนทนาที่ค่อนข้างคลาสสิกในภาพยนตร์เรื่อง “Wolf Totem” (2015) ที่บอกให้เรารู้ว่า ต้องรักษาทุกสิ่งในธรรมชาติให้สมดุล หากมีอะไรมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียตามมา การเข้าใจธรรมชาติ การรู้จักรักษาสมดุลจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

ในการบริหารจัดการก็เช่นกัน หากตึงไป หากหย่อนไปล้วนเป็นปัญหา หากสนใจงานไม่สนใจคน หรือสนใจแต่คนไม่สนใจงาน ก็ล้วนเป็นปัญหา ดังนั้นแนวคิดในการสร้างความสมดุลในการทำงาน ไปจนถึงการสร้างความสมดุลในการวัดประเมินผล จึงปรากฏออกมาในเครื่องมือทางการบริหารที่เรียกชื่อว่า Balanced scorecard

แคปแลน และนอร์ตัน (Kaplan & Norton) นักวิชาการ2 คนที่เสนอเครื่องมือทางการบริหาร ได้คุยโอ่ไว้ในบทนำของหนังสือเล่มที่ 3 ที่เขาเขียนว่า Balanced Scorecard คือเครื่องมือทางการบริหารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกปัจจุบัน ซึ่งหากดูถึงการนำไปใช้ในองค์กรต่างๆ คำคุยของเขาทั้งสองก็ไม่เกินเลยไปนัก
TP6-3407-A การออกแบบแนวคิดของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า สิ่งที่จะคิด สิ่งที่จะทำ อย่าไปให้นํ้าหนักต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียว ให้มองให้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผล อย่ามุ่งแค่ผล (Results) แต่ให้สนใจในการปรับปรุงแก้ไขในปัจจัยที่เป็นสาเหตุ (Enablers) ต่างๆด้วย

หากค้าขาย ก็อย่ามุ่งแค่กำไรอย่างเดียว ให้สนใจที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าด้วย

หากจะทำการรบให้ได้ชัยชนะ ก็ต้องสนใจดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสรรพด้วย

หากจะให้อาจารย์มีงานวิจัยมากๆ การเสริมทักษะอาจารย์ในการทำวิจัยทำแล้วหรือยัง

หากอยากชนะเลือกตั้งมีนโยบายที่ถูกใจประชาชนหรือเตรียมเงินทุนลงขันให้พอกันหรือยัง อะไรประมาณนี้

Enablers จึงเป็นปัจจัยสาเหตุ ต่างๆ ที่ต้องมองให้ครบ และเห็นความเชื่อมโยงไปยังเป้า ประสงค์สุดท้าย โดยรากฐานสำคัญที่สุดคือเรื่องของการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning & Growth) ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เกิดระบบการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ (Internal business process) ส่งผลให้ลูกค้า (Customer) เกิดความพึงพอใจ และนำไปสู่ผลกำไร (Financial) หรือผลประกอบการที่พึงประสงค์ในท้ายที่สุด

ไม่เสริมให้คนเก่ง อย่าหวังว่างานที่ทำจะทำได้ดี งานทำได้ไม่ดี อย่าหวังว่าจะสามารถสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า

ลูกค้าไม่พอใจ อย่าหวังว่าจะได้กำไรจากการประกอบการ

ความลึกซึ้งของแนวคิดดังกล่าวจึงมาจากการมุ่งลึกลงไปถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นก่อนทีละขั้นๆ สนใจหากลยุทธ์ในการดำเนินการ ควบคู่ไปกับการหาตัวชี้วัดผลการดำเนินการในแต่ละขั้นๆ จนกลายเป็นการผสานส่วนต่างๆที่สำคัญในการทำงานในองค์กรอย่างเป็นระบบ

ในมิติการเรียนรู้และการพัฒนา จึงต้องคิดโดยเริ่มต้นว่า คนของเรายังอ่อนด้อยในเรื่องใด และจำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใด หาทางที่จะพัฒนาแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว ต้องไปสำรวจว่า เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆในการทำงานพร้อมพรั่งหรือไม่ ทันสมัยเพียงพอหรือยัง หากยังก็ต้องวางแผนจัดซื้อจัดหามาใช้ให้ครบถ้วน ต้องสำรวจถึงบรรยากาศในการทำงานว่า มีลักษณะของความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือไม่ หากไม่ ก็ต้องหากลยุทธ์ในการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศดังกล่าว และไม่เพียงแต่คิด ต้องผลักดันกลยุทธ์ให้เป็นจริงพร้อมหามาตรการในการกำกับให้เกิดความสำเร็จ

ในมิติเรื่องกระบวนการ  ต้องพิจารณาในเรื่องการปรับปรุงกระบวนการในการทำงาน ทำอย่างไรจึงจะรวดเร็วขึ้น เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ มีของเหลือของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตให้น้อยที่สุด มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการดำเนินการ

ในมิติด้านลูกค้า  คือการคิดค้นในเรื่องกลยุทธ์ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความรู้สึกพึงพอใจในการบริการเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม การสร้างความรู้สึกผูกพันและทัศนคติในเชิงบวกต่อหน่วยงาน ให้เกิดแรงจูงใจในการมาใช้สินค้าและบริการรวมถึงการประชาสัมพันธ์แนะนำบอกต่อเพื่อการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ

ในมิติด้านการเงิน หรือประสิทธิผลในการทำงาน  คือการมุ่งเน้นหากลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลกำไร หรือทำงานตามเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ โดยในมิตินี้อาจเป็นจุดหมายสุดท้ายที่หน่วยงานมุ่งหวัง คือผลกำไรของการประกอบการ แต่ก็ไม่ควรยํ้าคิดยํ้าทำในเรื่องนี้แต่เพียงเรื่องเดียวจนขาดความสมดุล ต้องใส่ใจในมิติอื่นๆอีก 3 มิติข้างต้นด้วย

เก็บฝูงหมาป่าไว้ เพื่อไม่ให้ละมั่งมีมากไป รักษาจำนวนละมั่งให้ดีจะได้ยังเหลือผืนหญ้าไว้เลี้ยงแกะ เพราะหากละมั่งหมด หมาป่าจะกลับมากินแกะที่เราเลี้ยง

ทุกอย่างในโลกล้วนสมดุลจริงๆ

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3407 ระหว่างวันที่ 7-10 9 ต.ค.2561
595959859