ขอนแก่นดึงผู้จัดหางานชั้นนำ จัดโครงการ "ดิจิทัล จ๊อบแฟร์ 2018"

09 ต.ค. 2561 | 09:40 น.
ขอนแก่นร่วมกันจัดงานตลาดแรงงานครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี "ดิจิทัล จ๊อบแฟร์ 2018" ภายใต้ความร่วมมือประชารัฐ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจตลาดแรงงาน 4.0 กระตุ้นแรงงานให้เกิดการปรับตัว เพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. 2561 ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ทั้งกลุ่มผู้สมัครงานและประชาชนทั่วไป

ภาพหมู่ (2)[21524]

นายทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ จ๊อบบีเคเค ดอทคอม บริษัท จัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอท คอม จำกัด ผู้ให้บริการ E-JOB แฟลตฟอร์ม www.jobbkk.com เว็บไซต์ หางาน สมัครงาน ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า ทางธนาคารโลกได้ทำนายว่า "เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปี 2573 หรือในอีก 12 ปีข้างหน้า ทำให้ภาคธุรกิจหันมาสนใจการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในอนาคต เกิดการว่างงาน ตกงานของเด็กไทย บัญฑิตจบใหม่ถึง 72%" ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในอนาคต ทาง JOBBKK.COM จึงได้ร่วมกับทางจังหวัดขอนแก่น สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หรือ เทคนิคไทย-เยอรมัน ร่วมจัดกิจกรรมนัดพบแรงงานครั้งยิ่งใหญ่ โดยใช้ชื่องานว่า "ดิจิทัล จ๊อบแฟร์ 2018" ภายใต้โครงการ JOBBKK งานทั่วไทย ไปทุกภาค โดยเน้นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มดิจิทัล ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อรองรับและพัฒนาผู้หางานทำยุค 4.0 ในที่กำลังจะเกิดผลกระทบจาก AI ให้มีการปรับตัวและพัฒนาฝีมือให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับในปี 2561 มีบัณฑิตจบการศึกษากว่า 4 แสนอัตรา ในจำนวนนี้มีคนตกงานกว่า 1.6-1.8 แสนอัตรา หรือคิดเป็น 40% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทาง JOBBKK.COM เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยเข้าไปให้คำปรึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1–4 เพื่อดูว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง และจากการเข้าไปร่วมบรรยายไม่น้อยกว่า 289 ครั้ง พบว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 1 "ยังหาตัวเองไม่เจอและไม่มีเป้าหมายในชีวิต" ที่แท้จริง ก่อนที่จะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องการทำงานอะไร

ขณะที่ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 จากการเก็บสถิติของทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า ตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการบุคลากรด้านไอทีมาขับเคลื่อนธุรกิจ ในลักษณะผู้สร้างนวัตกรรม หรือ ในฐานะผู้คิดค้น หรือ ผู้พัฒนา มากกว่าเป็นผู้ใช้งานทางด้านไอที ข้อมูลจากภาคธุรกิจในปัจจุบัน มีแรงงานมีผู้ทำงานทางด้านไอทีประมาณปีละ 3.6 แสนอัตรา ซึ่งในแต่ละปี ภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานทางด้านไอทีปีละประมาณ 20,000 อัตรา ขณะที่ สถาบันการศึกษาผลิตได้ 1.9 หมื่นอัตรา ซึ่งหากประเมินจากตัวเลขภาคผู้ประกอบการ น่าจะรับได้หมด แต่พบว่า บัณฑิตที่จบออกมากว่า 44% เป็นคอมพิวเตอร์เพื่อธุรกิจ คือ เป็นผู้ใช้งาน ไม่ใช่ผู้คิดค้น หรือ ผู้สร้างนวตกรรม จากข้อมูลกลับพบว่า บัณฑิตที่จบมาในส่วนที่เป็นผู้คิดค้น ผู้สร้าง และพัฒนานวตกรรม มีเพียง 9% เท่านั้น ปัจจุบันภาคธุรกิจต้องการแรงงานด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้เกิดการดิสรัปชั่นเทคโนโลยีในองค์กรธุรกิจสูงขึ้นทุกวัน และองค์ความรู้บางอย่างยังล้าสมัย

อีกทั้งหลักสูตรที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน กว่าจะปรับปรุงต้องใช้เวลา 4-5 ปี ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันสถานการณ์ ขณะที่ ทั่วโลก ทั้ง ACM และ IEEE ได้อัพเดทหลักสูตรด้านดิจิทัลไปแล้วในปี 2560 แต่เรายังคงใช้มาตรฐานหลักสูตรตั้งแต่ปี 2552 อยู่ รวมทั้งความต้องการทางนักการตลาดดิจิทัล, Data scientist, Data Analytics, Machine Learning และ AI เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่สถาบันการศึกษามีหลักสูตรเหล่านี้ในการผลิตนักศึกษาออกมาน้อยมาก

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวภายหลังงานแถลงข่าว "ดิจิทัล จ๊อบแฟร์ 2018" ว่า จากการสำรวจประชากรทางภาคอีสานในช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความสนใจและมีความพร้อมในการเตรียมตัวที่จะก้าวสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนอกพื้นที่จำนวนไม่น้อย ที่ต้องการเข้ามาทำงานในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะขอนแก่น เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานและตลาดเศรษฐกิจของนักลงทุน อีกทั้งปัจจุบัน ขอนแก่นก้าวเข้าสู่ Smart City ถือเป็นศูนย์กลางความสะดวกด้านต่าง ๆ ทั้งด้านระบบขนส่งมวลชน ที่มีความพร้อมและทันสมัย ดังนั้น การพัฒนาด้านแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ขณะที่ ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในด้านการผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง ทั้งยังอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน และรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานสู่เมืองที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว