ปลายข้าวขาดแคลนดันราคาพุ่ง ผลพวง 3 ปัจจัย/กระทบปลาป่นสต๊อกบานหันส่งออก

26 ก.พ. 2559 | 07:00 น.
ราคาปลายข้าวพุ่ง เด้งรับอานิสงส์จาก 3 ปัจจัย โรงงานอาหารสัตว์แย่งซื้อ-พาณิชย์สั่งขึ้นบัญชีข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุม-ค่ายใหญ่ซีพีไม่รับซื้อปลาป่นที่ไม่มีใบรับรอง IFFO ส่งผลความต้องการใช้ปลายข้าวเพิ่ม กระทบโรงงานปลาป่นสต๊อกล้น ปรับกลยุทธ์หันส่งออกเป้าปีนี้ 1.4 แสนตัน ด้านนายกฯ อาหารสัตว์ ผวารับซื้อข้าวโพดจากแหล่งไม่เอกสารสิทธิ์ ไทยอาจถูกกีดกันซ้ำรอยประมง

[caption id="attachment_33281" align="aligncenter" width="503"] ปริมาณและมูลค่าการนำเข้า วัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยรอบ 5 ปี ปริมาณและมูลค่าการนำเข้า วัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยรอบ 5 ปี[/caption]

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ปลายข้าวได้ขาดแคลนหนัก เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาครและสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ได้แย่งซื้อ ขณะที่ราคาปลายข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศขึ้นบัญชีข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุมจากการมีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้นำเข้าระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบราคาปลายข้าวกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด กากถั่วเหลืองนำเข้า ปลาป่น และราคาปลายข้าวค่อนข้างถูกที่สุดแล้ว

สอดคล้องกับนายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ที่กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ไทยมีสต๊อกปลาป่นเกือบ 60% ของความต้องการใช้ สาเหตุมาจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ผู้ใช้รายใหญ่ประกาศไม่รับซื้อปลาป่นในไทยที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรปลาป่นและน้ำมันปลาสากล (IFFO) เพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดหาแหล่งผลิตปลาป่นตามมาตรฐานสากล ดังนั้นจึงมีผลให้ผู้รับซื้อปลาป่นที่มีโกดังและกำลังเงินที่จำกัดเกิดปัญหาสภาพคล่อง ต้องซื้อไปหยุดไป ขณะโรงงานปลาป่นต้องหันพึ่งการส่งออกแต่ก็ได้รับผลกระทบจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดมีกำลังซื้อลดลง จึงได้หันไปพึ่งตลาดทดแทนอย่างญี่ปุ่นและไต้หวัน มากขึ้น

"ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.การประมง ที่ทางรัฐบาลประกาศและมีผลบังคับใช้แล้วนั้น มีผลให้ปลาป่นทุกกิโลกรัมจะต้องมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (MPCD) เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเรือหรือที่มาของวัตถุดิบได้ เพราะฉะนั้นการเรียกเอกสารกำกับจากเรือ แพปลา ผู้ขายหรือผู้ส่งปลาให้โรงปลาป่น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำทันที เพราะเชื่อว่าเมื่อต้นทางเรือทุกลำออกไปจับปลาถูกกฎหมายหมด ปลาที่ได้ก็จะถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งสมาชิกทุกโรงยินดีที่จะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และคาดว่าปีนี้จะส่งออกปลาป่นได้ประมาณ 1.4 แสนตัน จากปี 2558 ส่งออกได้ ประมาณ 1.5 แสนตัน"

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวถึงสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 2559 ว่า น่าจะมีความต้องการใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมาโดยมีอัตราการเติบโตของการใช้ 10-15% โดยที่ปีนี้สถานการณ์ข้าวโพดอาหารสัตว์ไม่น่าเป็นห่วง ราคาที่รับซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท หรือบางช่วงสูงกว่าตลาดโลกด้วยซ้ำไป เพราะปริมาณผลผลิตในประเทศมีน้อยจากผลกระทบภัยแล้ง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เกษตรกรจำนวนมากที่ไปปลูกในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หากผู้ประกอบการไปรับซื้อจากเกษตรกรในส่วนนี้เกรงอนาคตจะถูกคู่ค้ากีดกันคล้ายกับสินค้าประมง เรื่องนี้มีความกังวลมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องช่วยใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดหาที่ดินให้เกษตรกรทำกินใหม่ โดยมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง หรือ 2.ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพให้เกษตรกรไปทำอย่างอื่นทดแทน

"ส่วนการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยาก อย่างที่ทราบผลผลิตออกมาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลไทยก็จำเป็นที่จะต้องปกป้องเกษตรกร เพราะกลัวว่าข้าวโพดข้างนอกจะมาทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ จึงมีระเบียบขั้นตอนการนำเข้าที่ยุ่งยากมาก ขณะที่บางช่วงราคาข้าวโพดในประเทศก็สูงเกินไป ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้พยายามแก้ปัญหาโดยนำเข้าข้าวสาลีเพื่อลดต้นทุน แต่ท้ายสุดก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมอีกหนึ่งรายการ เป็นสถานการณ์ที่เราต้องเจอมรสุมหลายอย่างในปีนี้"

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลกในแต่ละปีมีประมาณ 1 พันล้านตัน สร้างอัตราการหมุนเวียนซื้อขายในแต่ละปีประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณการใช้อาหารสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 15-16 ล้านตัน

อนึ่ง ราคาขายส่งปลายข้าวหอมมะลิ ณ ตลาดกรุงเทพฯ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เฉลี่ยที่ 1.17-1.18 พันบาท และปลายข้าวเอวันเลิศเฉลี่ยที่ 1.05-1.06 พันบาทต่อ 100 กิโลกรัม เทียบกับราคาเฉลี่ย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 1.02 พันบาท และ 950 บาทต่อ 100 กิโลกรัมตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559