ปตท. แจ้งพันธมิตร "ถอยประมูลไฮสปีด"

08 ต.ค. 2561 | 04:21 น.
081061-1113

ลุ้นระทึก! บอร์ดชี้ขาด ปตท. ถอนตัวประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินหรือไม่ หลังผู้บริหารบริษัท แจ้งพันธมิตรไม่เข้าร่วมประมูล เพราะไม่มีความถนัด แต่จะเข้าไปซื้อซองโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านแทน

ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 ต.ค. นี้ จะเป็นนัดชี้ขาดว่า ปตท. จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา) วงเงินรวม 1.82 แสนล้านบาท ในวันที่ 12 พ.ย. 2561 นี้หรือไม่ เพราะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า การประมูลครั้งนี้อาจไม่มีชื่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจพลังงานของไทย เข้าร่วมประมูล หลังจากผู้บริหาร ปตท. ได้แจ้งให้พันธมิตรที่ ปตท. เข้าไปเจรจาด้วย ทราบว่า ปตท. จะไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า BTSC ได้รับการประสานจากผู้บริหารบริษัท ปตท.ฯ เรียบร้อยแล้วว่า คงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแน่นอนแล้ว โดย ปตท. ยืนยันว่า ไม่มีความถนัดในงานดังกล่าวและคณะกรรมการบริษัทยังไม่ต้องการให้เข้าประมูลในช่วงนี้

 

[caption id="attachment_329672" align="aligncenter" width="503"] สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC[/caption]

BTSC ยืนยันว่า การไม่เข้าร่วมประมูลของ ปตท. จะไม่กระทบกับกลุ่ม BTSC เพราะกลุ่มบีทีเอสมี 3 บริษัท ที่ร่วมกันมาตั้งแต่ต้น คือ BTSC , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนจะมอบงานให้กลุ่มต่าง ๆ ต่อไปหรือไม่นั้น จะต้องรอผลการประมูลว่า บีทีเอสชนะการประมูลหรือไม่

"หากชนะก็จะกระจายงานให้กับผู้สนใจรายอื่น ๆ ต่อไป เพราะงานก่อสร้าง ซิโน-ไทยทำรายเดียวคงไม่ทันแน่ ดังนั้น จึงสามารถซับคอนแทร็กต์ให้รายอื่น ๆ ต่อไปได้ ขณะนี้ยังมองว่า จะเหลือราว 2-3 กลุ่ม ที่เข้าร่วมประมูล คือ กลุ่มซีพี , กลุ่ม BTSC และกลุ่มบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM"

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ตอนนี้ ปตท. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดมาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ คาดว่าจะสามารถนำข้อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 19 ต.ค. นี้ หรืออย่างช้าสุด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายเดือน ต.ค. ถึง พ.ย. นี้ พร้อมยืนยันว่า ปตท. ยังมีความสนใจลงทุนโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน แต่รูปแบบจะออกมาอย่างไรนั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ปตท. ก่อน

 

[caption id="attachment_329674" align="aligncenter" width="503"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)[/caption]

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินรวม 1.82 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเปิดประมูลในวันที่ 12 พ.ย. 2561 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ มีผู้ซื้อซองประมูลมากถึง 31 ราย โดยกลุ่มทุนที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจพลังงานของไทย ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะจับมือกับกลุ่มไหน ระหว่างกลุ่ม BTSC ของนายคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อรถไฟฟ้า กับกลุ่มซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ด้าน แหล่งข่าวจาก ปตท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การประชุมบอร์ด ปตท. วันที่ 19 ต.ค. นี้ นอกจากจะเสนอให้บอร์ด ปตท. ชี้ขาดเรื่องการเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้ว ปตท. จะเสนอให้ที่ประชุมอนุมัติให้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (เอ็นโก้) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เข้าไปซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท และภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 189,999 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน 15,640 ตำแหน่งต่อปี และผลตอบแทนโครงการ 193,612 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 119,353 ล้านบาท และภาคเอกชน 74,259 ล้านบาท


appMAP-3191

สำหรับการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามสัญญา PPP Net Cost ซึ่งจะมีการรวม 4 โครงการ ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า (คอมเมอร์เชียล เกตเวย์) 3.พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (คาร์โก วิลเลจ หรือ พื้นที่ฟรีเทรดโซน) และ 4.กลุ่มอาคารคลังสินค้า มาเปิดประมูลสัญญาเดียว

ส่วนนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาร่วมประมูล เช่น AviAlliance Gmbh Of Germany , GMR Group-Airport , GVK Airport India , VINCI Airport Singapore , China State Construction Engineering , EGIS Group (ฝรั่งเศส) , TAV Airport Holdings , AGP Corporation (ญี่ปุ่น) , อียิปต์ แอร์พอร์ต , ไชน่า เรียลเวย์ คอนสตรัคชั่น , Egis International , แฟรงก์เฟิร์ต แอร์พอร์ต , King Wai Group , Harrow Management International


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,407 วันที่ 7 - 10 ต.ค. 2561 หน้า 01-15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่ม ปตท. พร้อมรับศึก "โมโตจีพี"
“อาคม” ตรวจสร้างศาลาทางหลวงหน้าปตท.  พร้อมโชว์ระบบป้ายอัจฉริยะเมื่อแล้วเสร็จ


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว