คุมสินเชื่อบ้านหรู สัญญาณต้องชัด

07 ต.ค. 2561 | 07:24 น.
สัญญา 090861-1927-9-335x503-8-335x503 เพิ่มเพื่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศแนวนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่งสัญญาณออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยกลุ่มบ้านราคาแพงตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านหลังที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ 20% โดยวันที่ 11 ตุลาคมนี้ จะเปิดรับฟังเสียงภาคเอกชน และเริ่มบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2562

สาเหตุหลักที่ทำให้ธปท. ต้องออกมาตรการครั้งนี้มาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมาแข่งขันรุนแรงขึ้น มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารหย่อนลง เริ่มมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 2. การกู้ซื้อเพื่อเก็งกำไร ที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีการกู้ซื้อมากกว่า 1 หลัง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงระดมทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

แม้ธปท. จะยํ้าชัดว่าการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ เป็น “มาตรการเชิงป้องกัน” กล่าวคือ ให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน ไม่เอื้อการเก็งกําไรในตลาดอสังหา ริมทรัพย์ ทำให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริงสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ลดการเก็งกำไร ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงจากโอกาสเกิดฟองสบู่
shutterstock_516637903-e1504758036917 แต่ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังแสดงความกังวลว่ามาตรการนี้จะกระทบต่อวงจรธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะที่อยู่อาศัยนับเป็นสัดส่วนเกือบ 9% พร้อมยืนยัน ภาพรวมทั้งตลาด ไม่มีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนที่ซื้อบ้านและคอนโดฯ ส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง มีเพียง 15-20% เท่านั้นที่ซื้อเพื่อให้เช่า ส่วนกลุ่มเก็งกำไรอยู่ที่ประมาณ 10%

ต้องยอมรับว่าการส่งสัญญาณของธปท.เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ออกมาสร้างความสับสนให้กับคนจำนวนมาก ทั้งๆที่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลักๆจากการออกมาตรการครั้งนี้ คือ บ้านและคอนโดมิเนียมที่มีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 12,000 ยูนิต และขายออกไปแล้วประมาณ 9 พันยูนิต อยู่ระหว่างรอการขายประมาณ 3 พันยูนิต ส่วนบ้านที่ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีอยู่ 8,342 ยูนิต ขายไปแล้ว 5,217 ยูนิต อยู่ระหว่างรอการขาย 3,100 ยูนิต กลุ่มที่ 2 คือนักเก็งกำไร และผู้ประกอบการที่จะมียอดขายลดลงจากการซื้อบ้านหลังที่ 2 จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องสร้างความเข้าใจและอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่ออกมาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน

|บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3407 ระหว่างวันที่ 7-10 ต.ค.2561
595959859