"กาแฟไทย" ฮิต! ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดกัมพูชา

07 ต.ค. 2561 | 04:53 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

071061-1137

10 แบรนด์ดังร้านกาแฟไทย ระเบิดศึกแบรนด์ข้ามชาติ-โลคัลแบรนด์ในกัมพูชา รุกขยายแฟรนไชส์-ขายวัตถุดิบ ชิงตลาดคนรุ่นใหม่-นักท่องเที่ยว ชี้! ไทยแถวหน้าครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา 45% เตือนศึกษาตลาด-คู่แข่งขันไม่ดีพอมีสิทธิ์เดี้ยง

จากคนรุ่นใหม่ในกัมพูชานิยมดื่มกาแฟมากขึ้นตามกระแสนิยมเช่นเดียวกับในเมืองไทย รวมถึงลูกค้านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าไปในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ขณะที่ ลูกค้าอีกกลุ่มใหญ่ คือ คนวัยทำงานในพื้นที่และชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในกัมพูชาก็นิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ดังจากต่างประเทศรวมถึงจากประเทศไทยได้หลั่งไหลเข้าไปขยายธุรกิจกันอย่างคึกคัก นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายสาขาร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน (Caf’e Amazon) อย่างต่อเนื่องในกัมพูชา หลังจากเพิ่งฉลองครบ 100 สาขา ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ปัจจุบันมี 104 สาขา) โดยสัดส่วน 80% เป็นแฟรนไชส์ ทั้งนี้ คาเฟ่ อเมซอน เป็นแบรนด์ของคนไทยที่ไปต่อสู้กับต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายสาขาทั้งในกัมพูชา สปป.ลาว ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย


18836846_1729562543738743_9076983127202604868_o

สำหรับการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนั้น ถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะเพื่อนบ้านมีความคุ้นเคยกับแบรนด์ไทยอยู่แล้ว และมีความชื่นชอบด้านรสชาติที่คล้ายคลึงกัน โดยบริษัทวางเป้าหมายช่วง 5-10 ปีนับจากนี้ จะปั้นร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน สู่ความเป็นโกลบัลแบรนด์ (แบรนด์ระดับโลก) เป้าหมาย 2 หมื่นแห่งทั่วโลก หรือ คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนร้านกาแฟแบรนด์ดัง อย่างสตาร์บัคส์ ที่ปัจจุบันมีประมาณ 2 หมื่นแห่งทั่วโลก จากปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนมีสาขาทั้งในและต่างประเทศ 2,300-2,400 สาขา

ด้าน แหล่งข่าวจาก บริษัท บางจากรีเทล จำกัด เผยว่า มูลค่าตลาดธุรกิจกาแฟยังไม่ชัดเจน ในส่วนของบริษัทได้ร่วมกับหุ้นส่วน คือ บริษัท อาร์ซีจี รีเทล (กัมพูชา) ในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟอินทนิล (Inthanin) ในกัมพูชา เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เปิดร้านต้นแบบไปแล้ว 2 แห่ง ที่กรุงพนมเปญและเสียมเรียบ ล่าสุด (1 ต.ค. 2561) ได้เปิดสาขาที่ 3 ที่กรุงพนมเปญ โดยเป้าหมายในปีนี้จะพัฒนาและเปิดร้านต้นแบบให้ได้ 5 สาขา และเป้าหมาย 5 ปีนับจากนี้ จะขยายให้ได้ 50 สาขา


inthanin-sky-lane-3

"รูปแบบร้านกาแฟอินทนิลในกัมพูชาจะมีขายอาหารเป็นส่วนประกอบ ช่วงนี้เราอยู่ระหว่างพัฒนาร้านต้นแบบเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมของชาวกัมพูชา เบื้องต้น จะเน้นที่พนมเปญและเสียมเรียบเป็นหลัก เพราะเป็นตลาดกำลังซื้อสูง และคนนิยมดื่มกาแฟจำนวนมาก"

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ไทย) ณ กรุงพนมเปญ ระบุ ร้านกาแฟในกัมพูชากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยนักลงทุนหลายรายลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ หรือ สร้างแบรนด์ร้านกาแฟตัวเองขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ร้านกาแฟในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีร้านกาแฟทั่วกัมพูชาประมาณ 500 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงพนมเปญมากกว่า 300 แห่ง

สำหรับร้านกาแฟของไทยนั้น ได้รับความนิยมในกัมพูชาไม่แพ้ร้านกาแฟสัญชาติอื่น ปัจจุบัน มีร้านกาแฟไทยไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิ Amazon, Coffee Today, Inthanin, ชาพะยอม, Arabitia, ชาตรามือ เป็นต้น โดยแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ต่างกันออกไป เช่น การขายแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ หรือ ขายวัตถุดิบ เป็นต้น


GP-3406_181007_0007

พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า ปัจจุบัน ร้านกาแฟแบรนด์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้านกาแฟในกัมพูชาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา ส่วนแบรนด์ร้านกาแฟข้ามชาติในกัมพูชา Amazon ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด ขยายสาขาได้แล้ว 104 สาขา โดยตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ 12 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค. 2561) และภายใน 5 ปี มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 20 สาขา ขณะที่ Costa Coffee ร้านกาแฟสัญชาติอังกฤษได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วเป็น 7 สาขา ในกรุงพนมเปญ ในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากจำนวนคู่แข่งธุรกิจร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และศึกษาด้านการตลาดในกัมพูชายังไม่ดีพอ จึงปรับลดเหลือเพียง 4 สาขา ในปัจจุบัน

เว็บไซต์คัมโบเดียดอตคอม (www.cambopedia.com) รายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค. 2560 ได้มีการจัดการประชุมด้านกาแฟและเบเกอรี่ระดับนานาชาติครั้งแรกขึ้นที่กัมพูชา ภายใต้ชื่องาน "คาเฟ่ คัมโบเดีย" มีบริษัทนานาชาติเข้าร่วมงานมากกว่า 75 บริษัท จาก 18 ประเทศ สะท้อนการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟที่ขยายตัวตามการเติบโตของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศของกัมพูชา


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,406 วันที่ 4 - 6 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เร่งยกระดับกาแฟไทย จัดมหกรรมใหญ่สุดอาเซียนหวังขึ้นตลาดโลก
ร้านกาแฟไทยบุกอาเซียน อินทนิล-อเมซอนผนึกพันธมิตร ปั้นแบรนด์มัดใจลูกค้า


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว