'เอกนิติ' มึนรายเดียว! คว้าคืนแวตในเมือง

05 ต.ค. 2561 | 06:25 น.
051061-1314

4 ยักษ์ค้าปลีกร้องสรรพากรไขข้อข้องใจ ทำไมพลาดตัวแทนแวตรีฟันด์ โอดเตรียมการมา 2 ปี แต่คว้านำเหลว ถูก "เคาน์เตอร์ เซอร์วิส" ปาดหน้า ขณะที่ 'เอกนิติ' แปลกใจทำไมได้รายเดียว ด้านรองโฆษกเผย เสนอแผนตั้งจุดเกินกว่าเกณฑ์กำหนด

หลังกรมสรรพากรประกาศผลให้ บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทในกลุ่ม บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง หรือ Downtown VAT Refund for Tourist กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างหนักถึงความไม่โปร่งใส ว่า การพิจารณาคุณสมบัติ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติว่าจะตอบโจทย์ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและบริษัทร่วมทุน "บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด" ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ เซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, โรบินสัน และสยามพิวรรธน์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงกรณีที่ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนคืนภาษีฯ ทั้งที่เป็นผู้ดำเนินโครงการมาต่อเนื่องตลอด 2 ปี และมีการลงทุนในด้านต่าง ๆ รองรับไว้แล้ว

"เป้าหมายของการแถลงข่าวครั้งนี้ ต้องการชี้แจงให้กรมสรรพากรเห็นถึงวัตถุประสงค์ที่ทุกฝ่ายพร้อมใจกันดำเนินการมา และต้องการบอกว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น และนับจากนี้ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป"

ทุนค้าปลีกเปิดใจหลัง“พลาด”คว้าตัวแทนแวต รีฟันด์เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร

ย้ำ! ไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี การที่ "เคาน์เตอร์ เซอร์วิส" ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนการคืนภาษีฯ ในครั้งนี้ ต้องถามว่า ตรงตามวัตถุประสงค์ในการทำโครงการนี้ขึ้นในเมืองไทยหรือไม่ เพราะการที่นักท่องเที่ยวเลือกซื้อสินค้าจากในห้าง แล้ววิ่งหาคอนวีเนียน สโตร์ เพื่อมาขอคืนภาษี นอกจากไม่สะดวกแล้ว ยังกลายเป็นภาระ อีกทั้งนักท่องเที่ยวคงไม่นำเงินที่ได้จากการคืนภาษีกลับมาซื้อสินค้าอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน แต่อาจจะเลือกซื้อน้ำขวดในเซเว่นฯ แทน

นอกจากนี้ จากการพิจารณาที่ตั้งทั้ง 3 จุดของเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ที่จะเปิดให้บริการ ได้แก่ ร้านเซเว่นฯ-ลิโด้, ร้านเซเว่นฯ-แบ็งคอกไนท์ บาซาร์ และร้านเซเว่นฯ-ผดุงด้าว (เยาวราช) จะพบว่า ส่วนใหญ่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ยื่นขอคืนภาษีจะมีจำนวนราว 40% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็ไม่สะดวกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 60% ที่เหลือ

[caption id="attachment_328454" align="aligncenter" width="503"] เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร[/caption]

อธิบดีฉงนผ่านรายเดียว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มฯ มีคณะกรรมการและกระบวนการพิจารณา ซึ่งมีหลายเหตุผลที่จะให้คะแนนและกรมสรรพากรเปิดกว้างให้กับทุกราย เพื่อให้มีการแข่งขันกัน โดยมีผู้ยื่นเข้ามาทั้งหมด 3 ราย และรายละไม่เกิน 3 จุด แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติแล้ว ปรากฏว่า ผ่านเพียงรายเดียว จึงจะเป็นการดำเนินการนำร่อง (Sand Box) ไปก่อนในช่วง 6 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 31 มี.ค. 2562

"ผมเองก็แปลกใจและไม่คิดว่า ที่ยื่นมาทั้งหมดจะผ่านแค่รายเดียว คือ เคาน์เตอร์ เซอร์วิส เพราะเราถือว่าได้เปิดให้แข่งขันแล้ว ไม่ต้องการให้กับรายใดรายหนึ่ง เพราะตั้งใจให้มีทั้งหมด 6 จุด แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ประกาศ ก็จะดำเนินการไป 3 จุดก่อน เพราะเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แค่รวบรวมใบ พพ.10 ไปยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามจุดที่กำหนด ซึ่งทั้ง 3 จุด ก็เป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวเยอะอยู่แล้ว จะได้นำเงินกลับมาใช้จ่ายต่อได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เป็นเงินหมุนกลับมาในระบบเศรษฐกิจ"

ขณะที่ นายปิ่นสาย สุรัสวดี รองโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงถึงการแต่งตั้งตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวในเมืองให้กับ เคาน์เตอร์ เซอร์วิส เพียงรายเดียว ว่า เพราะเข้าข่ายตามข้อกำหนดพื้นฐานที่ประกาศ ส่วนเอกชนรายอื่นไม่ผ่านคุณสมบัติการจดทะเบียนบริคณห์สนธิ เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสนอจุดคืนภาษีเกิน 5 จุด ขณะที่ สรรพากรกำหนดให้ไม่เกิน 3 จุด เพื่อขอคืนภาษีในเมืองกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง


GP-3406_181005_0001

ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ (คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3) กล่าวว่า การที่กรมสรรพากรเลือก เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ให้เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1 ราย สร้างความแปลกใจให้แก่ผู้ประกอบการมาก แต่กรมสรรพากรให้เหตุผลว่า ผู้สมัครที่ไม่ผ่านการพิจารณา เพราะเสนอจุดคืนภาษีไปมากกว่า 3 จุด ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม เมื่อกติกาของกรมสรรพกรออกมาแบบนี้ ก็คงต้องเดินแบบนี้ไปก่อน เพราะผู้ที่ได้รับเป็นตัวแทนคืนภาษีจะต้องมีการลงทุนในระบบนี้ราว 10 ล้านบาท ซึ่งเคาน์เตอร์ เซอร์วิส มีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่หลังจากหมดเวลา 6 เดือน ที่มีการทดลอง หากรัฐบาลจะขยายเป็นโครงการถาวร เอกชนก็สามารถไปยื่นเสนอตัวได้ใหม่

อนึ่ง บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2537 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถือหุ้นโดย บมจ.ซีพี ออลล์ 99.99% ในปี 2560 มีรายได้ 3,604 ล้านบาท มีกำไร 1,001 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,406 วันที่ 4 - 6 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"เคาน์เตอร์เซอร์วิส" คว้าตัวแทนคืนแวตนักท่องเที่ยวในเมือง
คืนแวตในเมืองบูมค้าปลีกแนะสรรพากรเร่งแก้ปม-เพิ่มดิวตี้ฟรีสู้ศึกอาเซียน


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว