3ชาติดันนาฟต้าสู่ยุคใหม่ เปิดเสรีปลุกจีดีพีภูมิภาค

08 ต.ค. 2561 | 11:35 น.
หลังจากตกลงกับเม็กซิโกได้สำเร็จลุล่วงในเดือนสิงหาคม ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2561 สหรัฐอเมริกาก็สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับแคนาดา สร้างความโล่งใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวการเจรจาของกลุ่มข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า ที่มีสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา เป็นสมาชิก ว่าจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ การเจรจาระหว่างทั้ง 3 ประเทศซึ่งสุดท้ายมาถึงจุดที่ตกลงกันได้ในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการตก ลงที่จะแก้ไขและเพิ่มเติมบางส่วนในข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ เช่นประเด็นการเปิดตลาดเสรีผลิต ภัณฑ์นมเนย และส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างไปจากข้อตกลงนาฟต้าฉบับเดิมเท่าใดนัก

นับเป็นความสำเร็จของการประนีประนอมระหว่างคณะผู้เจรจาของทั้ง 3 ฝ่ายซึ่งแยกเจรจาเป็นเม็กซิโกกับสหรัฐฯ และแคนาดากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐฯและแคนาดา ที่พยายามถกกันจนตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย โดยแคนาดายอมเปิดตลาดผลิตภัณฑ์นมเนยให้สินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น และสหรัฐฯก็ยอมยืดหยุ่นท่าทีให้แคนาดาในเรื่องของกระบวนการเจรจายุติข้อพิพาทภายในนาฟต้า

10-3407.indd นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีการปรับแก้ไขข้อตกลงตามความต้องการของสหรัฐฯมากพอสมควร หนึ่งในนั้นคือ การปรับแก้สัดส่วนชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่ ต้องใช้ของที่ผลิตภายในนาฟต้าเองเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเดิม 62.5% เป็น 75% (โดยมีช่วงเวลาค่อยๆปรับตัวและเพิ่มสัดส่วนตามเป้าภายใน 5 ปี)  และในจำนวนนี้ 40-45% ต้องเป็นชิ้นส่วนและอะไหล่ที่ผลิตโดยแรงงานในพื้นที่ที่มีอัตราค่าจ้างอย่างน้อย 16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเวลาทำงาน 1 ชั่วโมง จึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 0% จากนาฟต้า ข้อตกลงฉบับใหม่ยังกำหนดให้บริษัทรถยนต์ที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องใช้เหล็กและอะลูมิเนียมที่ผลิตใน 3 ประเทศนาฟต้าเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตอีกด้วย

และในอนาคตหากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์หรือชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่จากประเทศคู่ค้า
รายอื่นๆ เม็กซิโกและแคนาดาก็จะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มโดยได้โควตาภาษี 0% สำหรับการส่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2.6 ล้านคันเข้าตลาดสหรัฐฯ (โควตารายปี) ส่วนรถปิกอัพที่ผลิตในแคนาดาและเม็กซิโก จะได้รับข้อยกเว้นโดยไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าข้อตกลงฉบับใหม่จะทำให้มีการย้ายฐานผลิตรถยนต์เข้าไปในสหรัฐฯมาก ขึ้น และต้นทุนผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกก็จะไม่ใช่ถูกๆ อีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯเคยประกาศจะยกเลิกข้อตกลงนาฟต้าฉบับเดิมที่ทำไว้กับเม็กซิโกและแคนาดาเนื่องจากเห็นว่าสหรัฐฯตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมายาวนานหลายปีแล้ว การเจรจาแก้ไขปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการในข้อตกลง จึงถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จและเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปลายปี 2559 อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวว่า ข้อตกลงฉบับใหม่นี้เป็นข้อตกลงใหม่เอี่ยม (brand-new deal) ไม่ใช่การเอาเหล้าเก่ามารินใหม่ (not NAFTA redone) กระบวนการที่เหลือต่อจากนี้ไปคือการนำเสนอให้สภาคองเกรสพิจารณาให้การรับรอง โดยประธานาธิบดีทรัมป์เสนอให้เปลี่ยนชื่อข้อตกลงจากเดิม “นาฟต้า”  เป็น “ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา” (United States-Mexico-Canada Agreement ตัวย่อ USMCA)

ตลาดหุ้นทั่วโลกมีปฏิกิริยาตอบรับเชิงบวกในเรื่องนี้ เนื่องจากการยอมรอมชอมตกลงกันได้เกี่ยวกับข้อตกลงการค้านับเป็นข่าวดีและถือเป็นการทลายความหวาดหวั่นและความไม่แน่นอนของภาวะการเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้และอาจนำไปสู่การเปิดฉากสงครามการค้าในที่สุด นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดาก็ออกมากล่าวว่า ข้อตกลงใหม่ที่เกิดขึ้นนำวันใหม่ที่ดีมาสู่แคนาดาเช่นกัน เพราะผลของข้อตกลงฉบับนี้หมายถึงการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น การค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคอเมริกาเหนือ

..............................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว