ปฏิกิริยา : "สภาพัฒน์" ยุคใหม่ จะไปได้ไกลแค่ไหน

03 ต.ค. 2561 | 14:32 น.
655555 159951 กระแสข่าว “สภาพัฒน์” หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการจัดตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาพัฒน์ในอนาคต ให้สามารถเป็นคลังสมองหรือ Think Tank ของประเทศ
หากจะกล่าวไปแล้วสภาพัฒน์ถือเป็นคลังสมองของไทยนั้น ล้มลุกคลุกคลานมาเนิ่นนาน หลายยุคหลายสมัย
แต่ก่อนจะกล่าวถึงการล้มลุกคลุกคลาน บางคนอาจไม่กระจ่างในคำคำนี้ “คลังสมอง” หรือ Think Tank มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร

“คลังสมอง” หมายถึงสถาบันที่ทำการค้นคว้า ศึกษา วิจัย วิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายภายในหรือนโยบายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในประเด็นนโยบายสาธารณะอยู่บนฐานของข้อมูลและความรู้
9191 สถาบันเหล่านี้อาจเป็นองค์กรอิสระ หรือองค์กรหลักอื่นๆ แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแน่นอน ถาวร
คลังสมอง มีบทบาทอยู่ในฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิชาการและภาคนโยบาย มีหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงให้กับภาคประชาสังคม ภาครัฐบาลและสาธารณะ เพื่อพัฒนาและรักษาผลประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยการทำวิจัยและทำให้งานวิจัยมีภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ และเข้าถึงประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย
คลังสมอง จึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ชี้นำ และเสนอแนะความคิด วิธีการที่เหมาะสมให้กับภาครัฐและส่วนราชการ เพื่อการบริหารจัดการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

คลังสมอง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง เป็นต้น

จากงานวิจัยเรื่องดัชนีชี้วัดคลังสมองทั่วโลก ประจำปี 2557 (2014 Think-Tank Index Report)ของ ดร. เจมส์ แมคแกน (Dr. James McGann) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งสถาบันลอเดอร์ของ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania's Lauder Institute) ใช้ตัวชี้วัดในการประเมินและวัดคุณภาพคลังสมองทั่วโลกมากกว่า 10 หลักเกณฑ์ พบว่า “ประเทศไทย” มีคลังสมองที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากลเพียง 8 แห่งเท่านั้น
นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อย่างประเทศอินโดนีเซีย 27 แห่ง ประเทศฟิลิปปินส์ 20 แห่ง ประเทศมาเลเซีย 18 แห่ง และประเทศกัมพูชาและเวียดนามมีคลังสมอง 10 แห่ง
ยิ่งกว่านั้น จากการสำรวจของหน่วยงานเดียวกันนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2550 - 2557 ประเทศไทยมีจำนวนคลังสมองคงที่ คือ 8 แห่ง
9999
สาเหตุที่ประเทศไทยไม่มีอัตราการเติบโตของจำนวนคลังสมองนั้นน่าจะเกิดจากสาเหตุที่สำคัญบางประการ
ประการแรกที่สำคัญ สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญมากเพียงพอกับการคิด การถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของการใช้ความรู้และงานวิจัย คนจำนวนมากในสังคมยังไม่ได้มีค่านิยมแห่งการแสวงหาความรู้ หรือการส่งเสริมให้มีการคิดนอกกรอบ รวมทั้งไม่มีพื้นที่และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของสังคมที่สถาบันคลังสมองจะเติบโตได้

อีกประการ ขาดเงินสนับสนุนในการทำงานวิจัย ทำให้งานวิจัยไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถศึกษาในเชิงลึกหรือลงรายละเอียดได้ การทำงานวิจัยจึงหยุดอยู่กับที่ คลังสมองจึงหยุดอยู่กับที่

ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานวิจัยส่วนมาก ไม่ได้เป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย และไม่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาการระหว่างประเทศ ทำให้ขาดแนวความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเพื่อใช้ในภาคธุรกิจ ไม่ได้ใช้ในภาคสาธารณะหรือภาพรวมของประเทศ
323232
ประการสำคัญ การไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของคลังสมอง เนื่องมาจากความผันผวนและความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมืองไทยประกอบกับค่านิยมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้คลังสมองไม่มีอิทธิพลมากพอในการนำทิศทางรัฐบาล

ผู้เขียนได้แต่หวังว่า การจัดตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเป็นไปได้แค่ไหน และจะมีจำนวนคลังสมองเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ ขอเพียงภาครัฐและภาคประชาชนรวมทั้งภาคเอกชน ร่วมมือกันอย่างแท้จริง เชื่อว่าจำนวนคลังสมองในประเทศไทย จะมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน

|คอลัมน์ : ปฏิกิริยา
|โดย : บิ๊กอ๊อด ปากพนัง
|ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

595959859