ธนารักษ์ร่วมฉลอง 100 ปี อ.ป๋วย ทำ‘สวนศิลป์’ ฟื้นถิ่นเกิด‘ตะลักเกี๊ยะ’

25 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
ธนารักษ์พร้อมวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ที่ชุมชนตลาดน้อยริมเจ้าพระยา ร่วมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย บูรณะโรงกลึงเก่าทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและที่จัดแสดงนิทรรศการ เชื่อมโยงการพัฒนาฟื้นที่เป็นย่านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คาด 2 ปีเสร็จ

ในวาระวันที่ 9 มีนาคม 2559 นี้เป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งหลายหน่วยงานได้ร่วมจัดกิจกรรมหลากหลาย เพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงต่อเนื่องมาเป็นลำดับ รวมทั้งประจวบเหมาะที่องค์การเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ได้มีมติล่าสุด ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยนั้น

[caption id="attachment_33352" align="aligncenter" width="373"] จักรกฤษณ์ พาราพันธกุล  อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จักรกฤษณ์ พาราพันธกุล
อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง[/caption]

นายจักรกฤษณ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กรมธนารักษ์ร่วมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษดังกล่าว โดยได้จัดทำโครงการก่อสร้างสวนศิลป์ "ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ขึ้น บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3870 โฉนดเลขที่ 763 ตั้งอยู่ในชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านถิ่นเกิดของ อ.ป๋วย ขนาดเนื้อที่ประมาณ 214.50 ตารางวา

โครงการนี้จัดทำขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของหลายหน่วยงาน ทั้งกรุงเทพมหานคร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงชาวชุมชนตลาดน้อย ที่มีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ต่อเนื่องมาจากย่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพมหานคร และเป็นอีกหนึ่งอู่อารยธรรมที่สะท้อนการตั้งถิ่นฐานในยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์

[caption id="attachment_33353" align="aligncenter" width="500"] ภาพร่างอาคารอนุสรณ์สถานดร.ป๋วย ในบรรยากาศริมท่าน้ำเจ้าพระยา ภาพร่างอาคารอนุสรณ์สถานดร.ป๋วย ในบรรยากาศริมท่าน้ำเจ้าพระยา[/caption]

"กิจกรรมนี้เราทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นพื้นที่เปิดโล่งต่อเนื่องกับเส้นทางเดินในชุมชน ที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่ ไปจนจรดท่าน้ำเจ้าพระยา ที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสภาพภายในชุมชนริมน้ำที่ยังคงสภาพและบรรยากาศดั้งเดิมอยู่มาก และสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ที่มีความหลากหลาย"

อธิบดีกรมธนารักษ์ให้รายละเอียดว่า พื้นที่ 214 ตารางวาที่ผู้เช่าเดิมยินดีส่งมอบคืนให้กรมนำมาพัฒนาโครงการนี้ เป็นอาคารโรงกลึงเก่าที่เหลือแห่งเดียวในย่านตลาดน้อย ซึ่งได้มีการออกแบบและทำผังภูมิทัศน์โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์เสร็จสิ้นแล้ว ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ให้สอดคล้องกับชุมชนและเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

[caption id="attachment_33354" align="aligncenter" width="500"] โรงกลึงเก่าแห่งสุดท้ายในตลาดน้อยที่จะเป็นที่ตั้งสวนศิลป์ อ.ป๋วย โรงกลึงเก่าแห่งสุดท้ายในตลาดน้อยที่จะเป็นที่ตั้งสวนศิลป์ อ.ป๋วย[/caption]

อาคารอนุสรณ์สถานเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงนิทรรศการนั้น จะรักษารูปแบบโครงสร้างอาคารโรงกลึงเดิมไว้ องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไม้ เมื่อจัดทำแล้วเสร็จจะมีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของชุมชน พร้อมกับประโยชน์ใช้สอย แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตลาดน้อย จะมีนิทรรศการถาวร เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ภาพถ่ายโบราณ วิดีทัศน์ประวัติศาสตร์พื้นที่ และอีกส่วนเป็นลานนิทรรศการกลางแจ้ง จะจัดแสดงปฏิมากรรมโลหะเป็นอนุสาวรีย์หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ งานประติมากรรมเล่าเรื่องชุมชนในแนว Street Art และลานกิจกรรมกลางแจ้ง สวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนและออกกำลัง

โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นงบก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์รวม 20 ล้านบาท และงบจัดทำนิทรรศการ 12 ล้านบาท พร้อมเปิดประมูลหาผู้รับจ้างภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้ คาดจะได้ตัวผู้รับจ้างและทำสัญญาจ้างได้ในเดือนพฤษภาคม และมีระยะเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ ย่านตลาดน้อยมีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยายาวต่อเนื่องถึง 750 เมตร มีทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่น และยังขาดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และการพัฒนาของเมือง กรมธนารักษ์จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำย่านนี้ โดยหวังให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ธนารักษ์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะต่อชุมชนสังคม และเชื่อว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะค่อยพลิกฟื้นบรรยากาศชุมชนพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตชีวา และพัฒนาเติมศักยภาพต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559