ธพว.เร่งแก้หนี้เสียSMEs ยกหลักใช้เงินสุจริตสร้างอาชีพใหม่

04 ต.ค. 2561 | 10:27 น.
ธพว.เผยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา NPL ด้วยหลักในการฟื้นฟู สุจริต และให้โอกาสสร้างอาชีพใหม่ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเอสเอ็มอีในการพิจารณาสินเชื่อกองทุน 1.8 พันล้านบาท กำหนดกรอบวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง มงคล1 และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าของการควบรวม 2 กองทุนได้แก่ โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม และโครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกองทุนเดียวภายใต้วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) ว่า ขั้นตอนในปัจจุบันจะต้องรอให้ สสว. ส่งมติมาที่ธนาคาร เพื่อแต่งตั้งให้เป็นหน่วยงานร่วม หรือหน่วยบริหารโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) นั้น เท่าที่ได้มีการหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม มองว่าน่าจะพยายามใช้หลักในการฟื้นฟู รวมถึงหลักสุจริต และหลักในการให้โอกาส สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ โดยใช้หลักการดังกล่าวมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณาสินเชื่อ เนื่องจากหากใช้กระบวนการในการให้สินเชื่อแบบเดิมอาจจะเป็นการยากในการเข้าถึง หรือจะกล่าวก็คือ ต้องมองไปในปัจจุบันกับอนาคต

“จากข้อมูลที่สะสมมาพบว่ามีจำนวนเอสเอ็มอีที่ติด NPLs อยู่ที่ประมาณ 4 แสนรายที่สะสมมา โดยการปลดล็อก NPLs ไม่ได้หมายความว่าจะมีการยกเลิกระบบในข้อมูลเครดิตบูโร เพียงแต่จะเป็นการให้โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ โดยใช้หลักการใช้เงินอย่างสุจริต โดยต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีหลายรายติดกับดักดังกล่าว ซึ่งเมื่อความสามารถทางธุรกิจไม่สามารถทำได้ หรือติดทางด้านคุณสมบัติก็ไม่สามารถที่จะไปเริ่มอาชีพใหม่ได้ ดังนั้น จึงมีความพยายามช่วยเอสเอ็มอีในการสร้างอาชีพใหม่ เพราะธุรกิจเดิมไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้”

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า กระบวนการโดยแท้จริงแล้วก็คือต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเอสเอ็มอีบางรายมีหนี้สินจำนวนมาก และอยู่ในขั้นตอนของการสู้คดีกับเจ้าหนี้ จึงไม่มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงสินเชื่อ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือให้โอกาส และจำนวนเงินจะต้องไม่มาก หรือประมาณ 50,000-200,000 บาทต่อราย เพื่อให้สามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้

[caption id="attachment_326724" align="aligncenter" width="503"] Businessman hand touching SME(or Small and Medium Enterprise) sign on virtual screen - commercial & business concept Businessman hand touching SME(or Small and Medium Enterprise) sign on virtual screen - commercial & business concept[/caption]

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนจะต้องเสนอไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา โดยการดำเนินการจะต้องใช้วิธีในการผ่านแพลตฟอร์มทางด้านไอที หรือแอพพลิเคชันอย่าง SME D BANK หลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุน อย่างไรก็ตาม รูปแบบจะเป็นอย่างไรจะต้องมีการหารือกันให้รอบคอบ แต่สิ่งที่สำคัญคือการพยายามทำให้กว้างขวาง และมีเครือข่ายให้มากที่สุด แต่การดำเนินการจะต้องมีเจ้าภาพที่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยอาจจะผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสากรรม ซึ่งอาจจะมีทุกธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ธนาคารอาจจะเป็นเจ้าภาพในการรับผิดชอบ แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีเครือข่ายเพื่อช่วยในการกลั่นกรอง โดยอาจจะมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งซื้อหนี้ออกไปแล้ว หรือกรมบังคับคดี กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะต้องมีการสร้างอาชีพใหม่ขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น ข้อมูลอย่างเป็นทางการยังไม่ได้มีการระบุชัดออกมา”

นายมงคล กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมก็ได้ หากธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เกิดปัญหา แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการที่ธุรกิจเดิมไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ก็เพราะการแข่งขันมีน้อย ดังนั้น จะต้องคิด หรือตัดสินใจใหม่ เอสเอ็มอีหลายรายไม่ยอมเปลี่ยน ซึ่งก็ไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเอสเอ็มอีแต่ละราย โดยการดำเนินการเป็นเสมือนการสร้างโอกาส ซึ่งจะไม่คำนึงถึงเรื่องในอดีต

“ความเสี่ยงของเรื่องดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า เมื่อเอสเอ็มอีถูกฟ้องล้มละลายจะทำอย่างไร แต่เอสเอ็มอีรายนั้นก็ย่อมมีอาชีพ ซึ่งจะเหมือนกับผู้ที่ไปอายัดเงินเดือน โดยเชื่อว่าทางกรมบังคับคดีน่าจะให้โอกาสเอสเอ็มอีกลุ่มนี้สามารถมีคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ล้มละลายก็ยังสามารถขายก๋วยเตี๋ยวได้ ไม่เช่นนั้นหากต้องไปพึ่งเงินนอกระบบก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ หากเอสเอ็มอีตั้งใจจริงโอกาสก็จะมี อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการยื่นเรื่องใหม่ทั้งหมด เพราะมีการปรับเปลี่ยนกองทุนและเงื่อนไข”

นายมงคล ยังได้กล่าวต่อไปถึงประเด็นเรื่องของการให้เอสเอ็มอีใช้บัญชีเดียวด้วยว่า ขั้นตอนล่าสุดอยู่ในระหว่างแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ว่าไม่มีภาระมากในการดำเนินการ หรือให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีไม่หวาดกลัวกับการเข้ามาอยู่ในระบบ โดยการปรับเพดานของภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต (VAT) จากเดิมที่ยอดขาย 1.8 ล้านบาทต้องเข้าระบบแวท เป็น 10 ล้านบาท และลดภาษีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาจาก 35% เหลือ 25%

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เท่าที่รับทราบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติให้ ธพว. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกองทุน 1.8 พันล้านบาทจาก สสว. แต่ไม่แน่ใจว่าจะต้องมีระเบียบการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไร โดยที่ล่าสุดทาง ธพว. ได้มีการนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการเงินกองทุนไปเรียบร้อยแล้วว่าควรจะต้องทำอย่างไร

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3406 วันที่ 4-6 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว