Management Tools : Scenario Analysis เมื่อจะคิดถึงอนาคต

01 ต.ค. 2561 | 06:59 น.
987 ใครๆ ก็อยากรู้อนาคต เพราะคิดว่าหากรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็สามารถ หาทางป้องกันแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหา หรือสามารถฉกฉวยโอกาสเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ ได้

ในทางการบริหาร คำว่าทำนาย (Predict) หรือพยากรณ์(Forecast) จึงเป็นคำสองคำที่นักบริหารพยายามไขว่คว้าหาวิธีการต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้เห็นแนวโน้มหรือทิศทางในอนาคต หากสิ่งนั้นเป็นเชิงคุณภาพ (Qualitative) คำทำนายหรือพยากรณ์อาจได้มาโดยการให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความรู้มาร่วมกันให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปในอนาคต หากเป็นข้อมูลในเชิง ปริมาณ (Quantitative) ก็จะมีเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ต่างๆ มากมายที่นำตัวเลขในอดีตมากำหนดเป็นเส้นแนวโน้ม เพื่อชี้ให้เห็นตัวเลขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่ว่าคนหรือคณะบุคคลที่ให้คำทำนายจะเก่งกล้าสามารถ รอบรู้สารพัด คำทำนายก็อาจผิดพลาด เช่นเดียวกับเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ก็ไม่สามารถบอกแนวโน้มในอนาคตได้อย่างถูกต้อง มีถูกและมีผิด โดยสัดส่วนของผิดดูเหมือนจะมากกว่าถูก ด้วยซํ้า

หมอดูที่แม่นๆ นักวิชาการที่เก่งๆ ทำนายอะไรๆ ก็ไม่เป็นจริงมาก็เยอะ

Scenario Analysis หรือการวิเคราะห์ภาพทัศน์ในอนาคต อาจเป็นเครื่องมือทางการบริหารที่ป้องกันความเสียหายจากผลที่ไม่แน่นอนของอนาคตได้

การฉายภาพอนาคตภายใต้วิธีการคิดแบบนี้ ไม่ได้มีภาพทำนายเพียงภาพเดียวแบบที่คนคุ้นเคย แต่แตกออกเป็น 3 ภาพ ภายใต้ชื่อที่แตกต่างกัน คือ ภาพที่ดีที่สุด (Best case scenario) ภาพที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) และภาพที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด (Possibility case scenario)
TP6-3405-A ภาพที่ดีที่สุด (Best case) นั้น เป็นภาพของการมองในแง่ดี เห็นทุกอย่างเป็นโอกาส และมองว่าตนเองมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะฉกฉวยโอกาสเหล่านั้นได้ เหมือนกับทุกอย่างลงตัวดีไปเสียหมด เช่น ปีนี้ฝนน่าจะตกน้อย เครื่องสูบนํ้าเราก็เตรียมพร้อม ระบบคูคลองการระบายนํ้าเราก็น่าจะไม่อุดตันสามารถระบายนํ้าได้รวดเร็ว พนักงานเราก็มีสมรรถนะ ทำงานคล่อง ต่อให้มีนํ้าเหนือบ่า นํ้าป่าแรง ประกันได้ว่านํ้าไม่มีวันท่วมเมืองเป็นแน่ อันนี้เรียกว่า การทำนายโดยให้ภาพที่ดีที่สุด

การมองภาพที่ดีที่สุด เป็นด้านที่ก่อให้เกิดกำลังใจและเกิดแรงผลักดันให้เกิดความสำเร็จว่า หากเราใช้ความพยายามอุสาหะ เรามีโอกาสไปถึงสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากเราหลงว่าจะเป็นภาพดังกล่าว หรือไปประเมินเข้าข้างตนเองจนไม่หาทางป้องกันแก้ไข ภาพที่ดีที่สุดดังกล่าว อาจทำให้เราประมาท ไม่เตรียมการ และนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย เหมือนกับประโยคที่รัฐบาลสมัยหนึ่งชอบพูดคำว่า “เอาอยู่” พอถึงเวลาเดือดร้อนจมนํ้ากันทั้งประเทศ

สำหรับภาพที่ 2 ที่เรียกว่า ภาพที่เลวร้ายที่สุด (Worst case) นั้น เป็นภาพที่ประเมินจากสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด เช่นฝนจะตกหนักกว่าทุกปี นํ้าเหนือจะมาเร็วกว่าที่คิด เครื่องสูบนํ้าก็เก่าเวลาใช้จริงอาจจะเสีย คูคลองก็ตื้นเขิน เจ้าหน้าที่ก็น่าจะไม่สามารถรับมือไหว นํ้าอาจท่วมขังยาวนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ภาพที่เลวร้ายที่สุดนี้ ดูแล้วอาจจะน่ากลัว และเป็นภาพที่ไม่มีใครปรารถนา บางคนอาจว่ามองโลกแง่ร้ายเกินไป เป็นพวกมองอะไรในทางลบ แต่การมองด้านเลวร้ายจะทำให้เราไม่ประมาท และมีการวางแผนตั้งรับได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเชื่อในภาพนี้มากเกินไป จะเกิดความไม่กล้าและสิ้นเปลืองกับการทุ่มเททรัพยากรเพื่อการป้องกันแก้ไขที่เกินกว่าเหตุ เข้าทำนองขี่ช้างจับตั๊กแตน

ส่วนภาพที่ 3 ที่เรียกว่า ภาพที่เป็นไปได้ (Possibility case) เป็นการประเมินโดยเอาภาพ 2 ภาพแรก คือ ภาพที่ดีที่สุดและภาพที่เลวร้ายที่สุดมาผสมกัน ภาพที่เป็นไปได้จึงอยู่ระหว่าง 2 ภาพแรก แต่จะเอนเอียงไปทางไหนแล้วแต่ละคนจะประเมิน

ภาพที่เป็นไปได้ เป็นภาพที่ทำให้เราไม่หลงระเริงกับชัยชนะซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นจริงแล้วกลายเป็นความประมาทที่นำไปสู่ความพินาศ ในขณะเดียวกันก็เป็นภาพที่ไม่ทำให้เราโศกาอาดูรกับปัญหาต่างๆที่คาดเดาว่าจะเกิดขึ้น จนทำให้เราต้องสิ้นเปลืองสูญเสียกับการทุ่มเททรัพยากรไปเพื่อป้องกันแก้ไขโดยไม่จำเป็น

การสร้างภาพที่เป็นไปได้ อาจต้องเริ่มจากการวาด 2 ภาพแรกให้ชัด แต่สำหรับคนทั่วไปอาจติดอยู่ที่ภาพสวยงามจนเคลิบเคลิ้มจึงเห็นแต่ภาพที่ดีที่สุดแต่เพียงภาพเดียว

หลงคิดไปว่าตนเองหน้าตาดี หลงคิดไปว่าใครๆเขาก็นิยมยกย่อง หลงคิดไปว่าตนเองเท่านั้นที่มีความสามารถจัดการแก้ไขปัญหา มองอะไรในเชิงหวังผลสูงสุด หากเป็นนักการเมืองคงมองสถานการณ์ด้านเดียวว่าตัวเองชนะได้เป็นรัฐบาลแน่ แต่พอถึงเวลา ภาพที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่เป็นดังที่คิด

ในทางตรงข้าม บางคนที่มีภาพเลวร้ายในความคิด ก็จะขลาดกลัวไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าลงสมัคร กลัวแพ้ กลัวคนไม่ยอม รับ กลัวคู่แข่งจะมีดีกว่า หรือหากกลัวแพ้มากๆก็อาจกลับวิธีการคิดไปอีกทาง หาทางทุจริตซื้อเสียง ทุ่มเททรัพยากร โดนหัวคะแนนหลอกกินเงินไปนักต่อนัก ว่าไม่ทุ่มแพ้แน่ ลูกพี่ต้องทุ่มถึงชนะ ทั้งๆที่ไม่ต้องทำสิ่งนั้นๆก็ได้

มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางที่อยู่ระหว่าง 2 ภาพที่ตรงข้ามย่อมดีที่สุด พระพุทธเจ้ากล่าวไว้

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3404 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ย.2561 595959859