ญี่ปุ่นผนึกจีน! ชิง 2 แสนล้าน ไฮสปีดเทรน

30 ก.ย. 2561 | 12:07 น.
300961-1859

อีอีซีได้อานิสงส์! ญี่ปุ่นจับมือจีนร่วมลงทุนในต่างประเทศ ประกาศดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโปรเจ็กต์แรก คาด 'อิโตชู' ผนึก 'ซิติก' และ 'ซีพี' รวมกลุ่มคอนซอร์เตียมร่วมประมูล

นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า จากที่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายดำเนินกลยุทธ์ Free and Open Indo-Pacific ที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้ากับอินเดียและแอฟริกามากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต้องผ่านไทยไปประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นจึงมองหาการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ภายใต้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จากในอดีตที่เป็นเรื่องของอีสเทิร์น ซีบอร์ด อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นและจีนจับมือร่วมกันในการขยายการลงทุนนอกประเทศ ซึ่งจากการหารือในระดับนายกรัฐมนตรี ได้ตกลงที่จะร่วมลงทุนในประเทศไทยเป็นโปรเจ็กต์แรก ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)


TP06-3345-1

โดยทางบริษัท CITIC Group Corporation (ซิติก กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น) รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน และ Itochu (อีโตชู) ซึ่งเป็น Trading Company รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เข้ามาซื้อซองประกวดราคาในโครงการดังกล่าวไปแล้ว และคาดว่าในการยื่นเสนอตัวเพื่อแข่งขันในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะมีการรวมกลุ่มในลักษณะคอนซอร์เตียมระหว่างอิโตชู กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (ซีพี) ของไทย และซิติก กรุ๊ป ของจีน เนื่องจากอิโตชูทำธุรกิจกับซีพีมานาน และซิติก กรุ๊ป ของจีน ทางอิโตชูและซีพีก็ถือหุ้นอยู่บางส่วน

"จากการที่รัฐบาลไทยออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่า โครงการนี้จะเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง หลังการออก ก.ม.ดังกล่าว และจากความสัมพันธ์ทางการทูต 130 ปี ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ทางรัฐมนตรีการเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ได้นำนักลงทุนกว่า 600 คน มาเยือนไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย และลงไปดูพื้นที่อีอีซี ก็ทำให้เขามองเห็นศักยภาพของพื้นที่นี้"

นายบรรสาน ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นจัดว่าอยู่ในอันดับ 2 ของทั้งโลก ที่ไทยทำการค้าด้วย และมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว มากถึง 5,000 บริษัท การผลักดันอีอีซีของรัฐบาลไทยก็จะกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นของนักลงทุนญี่ปุ่น

 

[caption id="attachment_326028" align="aligncenter" width="503"] ภาพโปรโมตโครงการลงทุนในอีอีซีในสนามบินนาริตะ ภาพโปรโมตโครงการลงทุนในอีอีซีในสนามบินนาริตะ[/caption]

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า ได้เปิดรับฟังความเห็นและตอบข้อซักถามของนักลงทุนที่ซื้อซองประมูล ไทยและต่างประเทศรวม 31 บริษัท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ครั้งที่ 2 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อเสนอแนะ คำถาม ข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ได้ถึงวันที่ 9 ต.ค. หลังการเปิดประชุมชี้แจงครั้งนี้ มีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมากถึง 668 คำถาม

อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อเอกสารประมูลจะต้องยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พ.ย. นี้ จากนั้นจะใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ คาดว่าภายในเดือน ม.ค. นี้ จะได้ตัวผู้ชนะประมูล และเซ็นสัญญาดำเนินการโครงการต่อไป โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ตามแผนเปิดบริการในปี 2566

"จะมีกลุ่มไหน กี่ราย มายื่นประมูลบ้าง ต้องรอดูวันที่ 12 พ.ย. แต่ถ้าหากยื่นมาหลายกลุ่ม คงต้องใช้เวลาในการพิจารณามาก เพราะเอกสารแต่ละกลุ่มค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเสนอมาสัก 10 กลุ่ม ก็หนักใจเหมือนกันในการตรวจสอบเอกสาร ส่วนเรื่องที่ดินมักกะสันจะส่งมอบให้ได้ 100 ไร่ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 50 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณพวงรางโรงซ่อมบำรุงมักกะสันจะมอบให้ทันภายใน 5 ปี"

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะทาง 220.5 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด มี 9 สถานี มูลค่าโครงการ 2.2 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มสร้างจากพญาไทไปดอนเมืองเป็นเฟสแรก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,404 วันที่ 27-29 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ร.ฟ.ท. เปิดเวทีลุยไฟไฮสปีดเทรน
ชิงสินเชื่อ 2 แสนล้าน! ปล่อยกู้ไฮสปีดเทรน


เพิ่มเพื่อน
595959859