เปิดมุมมอง "คนแปดริ้ว" ผังเมือง EEC กับความเจริญที่ลงตัว

02 ต.ค. 2561 | 13:43 น.
021061-2041

ฉะเชิงเทรา หรือ เมืองแปดริ้ว
 หนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับชลบุรีและระยอง เป็นจังหวัดไข่แดง ตั้งอยู่ใจกลาง เพราะมีอาณาเขตต่อหลายจังหวัด ทั้งกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ชลบุรี และยังมีอาณาเขตติดกับอ่าวไทย

แต่คำถามของคนฉะเชิงเทราวันนี้ ยังมองไม่ออกว่า การมาของ EEC จะทำให้โอกาสที่มาพร้อมความเจริญจากทุกทิศทาง จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร จากผังเมืองภายใต้ พ.ร.บ.EEC

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวในงานสัมมนา "EEC คนไทยได้อะไร" จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า การเตรียมความพร้อมก่อนที่ตัวเองจะเกษียณอายุราชการส่งไม้ต่อให้ผู้ว่าฯคนใหม่ ตอนนี้มี 9 บริษัทเอกชน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในฉะเชิงเทรา ซึ่งได้นำข้อมูลแจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานอีอีซีแล้ว แต่ก็อดห่วงใยปัญหาของผังเมืองใหม่ไม่ได้ เกรงว่าจะไม่ได้อานิสงส์ไปถึงชาวบ้านที่ อ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต อ.คลองเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร มีการปลูกมัน ทำนา ชาวบ้านถามว่า เขาจะได้อะไรถ้ามีบริษัทใหญ่ไปตั้งโรงงานและมีรถไฟฟ้าผ่านจังหวัด

"อยากให้ผังเมืองใหม่ไม่ละเลยที่จะพูดถึงเขา ทำอย่างไรให้เขามีโอกาส ผมสงสารประชาชนกลุ่มใหญ่ ท่าตะเกียบ สนามชัยเขต ไม่มีทางเลือกชีวิต อยากกราบเรียนว่า บ้านเมืองจะเจริญหากมีผังเมืองที่ดี ไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาเรื่องต่าง ๆ"

ด้าน "รมต.กุ้ง" หรือ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ พูดในฐานะคนที่มาอยู่อาศัยใช้ชีวิตที่แปดริ้ว ว่า ฉะเชิงเทราพร้อมรับ แต่เราไม่รีบ มองว่าการจัดทำผังเมือง EEC ต้องใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ "ให้กระจาย ไม่ใช่กระจุก"

"สาธารณูปโภคต้องไปในที่ที่ควรไป เราเป็นเกษตรคุณภาพ เราพร้อมร่วมมือ ถ้าเรากระจายออก เราหวงสิ่งแวดล้อม ป่าน้ำและดิน ดังนั้น ที่เราเป็นตรงกลาง เราต้องการความสงบ สะดวกสบาย ทางออกของจังหวัดต้องออกได้ทุกจังหวัดในการขนของ ขนคน และขนความรู้"


TP11-3405-K

ส่วนผู้ประกอบการ อย่าง "นายบุญรักษ์ พัฒนยินดี" อายุ 57 ปี เจ้าของโรงงานเส้นหมี่ตราพระอาทิตย์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางคล้า อ.บางคล้า สะท้อนปัญหาของผังเมืองรวมเดิมว่า เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการที่มีที่ดิน ไม่สามารถขยายธุรกิจต่อได้ เพราะการออกแบบผังเมืองพื้นที่ฉะเชิงเทราเป็นผังเมืองสีเขียวและเขียวลาย ที่ยังไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการมากนัก

"แต่ผมเห็นด้วยที่ห้ามอุตสาหกรรมหนัก 16 ชนิด มาอยู่ที่ฉะเชิงเทรา แล้วต้องทำให้เราอุตสาหกรรมเล็ก ๆ อยู่ได้ ไม่เช่นนั้น เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ"

ขณะที่ นายณรงศักดิ์ แก้วเมืองเพชร อายุ 51 ปี ชาวเมืองฉะเชิงเทรา ที่ประกอบธุรกิจรับเหมาและขุดดิน ว่า "ผมเห็นด้วยที่ต้องมีอุตสาหกรรมในฉะเชิงเทรา แต่อุตสาหกรรมหนักเราไม่เอา" แต่ผังเมืองเดิมเป็นปัญหาในการพัฒนาฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่ติดกับหนองจอก ลาดกระบัง แต่ยังเป็นผังเมืองสีเขียว ทำให้จะพัฒนาเพื่อรองรับความเจริญแบบไร้รอยต่อทำได้ไม่เต็มที่ เพราะประกอบอาชีพขุดดิน แต่ผังเมืองเดิมไม่สามารถขุดดินในฉะเชิงเทราได้ ต้องใช้ดินจากปราจีนบุรีและชลบุรีบ้าง ต่อสู้เรื่องนี้มา 5 ปี ไม่มีใครสามารถแก้ได้ จึงขอให้ช่วยแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กด้วย


……………….
รายงานพิเศษ โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทางออกนอกตำรา : พลิกที่ดิน ‘โยธะกา’ ขึ้นสมาร์ทซิตีแทนที่เมืองใหม่แปดริ้ว
สมาคมอสังหาแปดริ้ว ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี


เพิ่มเพื่อน
595959859