สัมผัสพิเศษแห่ง AI

29 ก.ย. 2561 | 04:00 น.
ยุคนี้แทบทุกคนจะได้ยินคำว่า Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ หนา หูมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ AI เริ่มแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยไม่นานมานี้ Accenture กล่าวถึงศัพท์ที่น่าสนใจคำหนึ่ง คือ คำว่า “Citizen AI” หมายถึง AI ไม่ใช่เป็นเพียงหุ่นยนต์ แต่เป็นพลเมือง (Citizen) มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่องานอย่างชัดเจน เสมือนเป็นบุคลากรในประเทศ หรือองค์กร และมีส่วนขับเคลื่อนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหน่วยงานนั้นได้

หากมองว่า AI เป็นพลเมือง หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคงไม่เกินเลยไปนัก เพราะ AI มี “Sense” หรือประสาทสัมผัสคล้ายคลึงกับมนุษย์ โดย capgemini รายงานเรื่อง “The five senses of Artificial Intelligence” ซึ่งอธิบายลักษณะของประสาทสัมผัสของ AI ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ

ระบบปฏิสัมพันธ์ (Inter action) ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านประสาทสัมผัสรูปแบบต่างๆ โดยฟัง พูด คือ ระบบ Voice Recognition (ระบบจดจำด้วยเสียง) ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีโปรแกรมโต้ตอบบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับ AI เช่น SIRI ของ Apple หรือ Alexa ของ Amazon เพื่อให้บริการต่างๆ พร้อมกับพัฒนาระบบเปิดให้นักพัฒนาเชื่อมต่อระบบ ตัวอย่าง สถาบันการเงิน Capital One ในสหรัฐอเมริกา เชื่อมระบบต่อกับ Alexa ให้ลูกค้าสามารถสั่งงานด้วยเสียง ทำธุรกรรมชำระบิล บริหารจัดการบัญชีค่าใช้จ่าย ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ

ภาพบทความไอที

ด้านการอ่าน พบในรูปแบบของ Face Recognition (ระบบการจดจำใบหน้า) การจับแสดงสีหน้าอารมณ์ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด เช่น ระบบจดจำใบหน้าของสมาร์ทโฟนเพื่อเป็นการยืนยันเข้าใช้งาน หรือในภาคธุรกิจ เช่น ห้างวอลมาร์ตกำลังศึกษาการแสดงออกทางอารมณ์บนใบหน้าลูกค้าขณะที่กำลังต่อคิวชำระเงินซื้อสินค้า โดยระบบ Face Recognition จะจับใบหน้าของลูกค้า พร้อมวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าต่างๆ และเรียนรู้ว่าใบหน้าแบบนี้มีความสุข หรือไม่มีความสุข และเมื่ออารมณ์ไม่มีความสุขสูงถึงระดับหนึ่ง ระบบจะส่งสัญญาณ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือเพิ่ม

ด้านการเขียน ปัจจุบันมีโปรแกรม “Chatbot” ผู้ช่วย ไฮเทคยุคดิจิตอล ลักษณะเป็นระบบโต้ตอบกับมนุษย์อัตโนมัติผ่านแมสเสจจิ้งแอพพลิเคชัน  ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นองค์กรขนาดใหญ่นำ Chatbot มาใช้ เพื่อบริการลูกค้าและใช้งานภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การบริการ สถาบันการเงิน เช่น สายการบิน KLM Royal Dutch Airline เปิดตัว messenger chatbot ชื่อ “BlueBot (BB)” ให้บริการแก่ลูกค้า ค้นหาตั๋วโดยสาร จองตั๋ว โต้ตอบกับผู้โดยสารอัตโนมัติ

ทักษะการมอนิเตอร์ตรวจสอบ สังเกต เฝ้าระวัง ในรูปแบบของการมอนิเตอร์และดึงข้อมูลผ่านตัวรับส่งสัญญาณเซ็นเซอร์ พบเห็นในกลุ่มเทคโน โลยี Internet of Things (IoT) โดย AI จะทำหน้าที่ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตการจัดการสต๊อกสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดซัพพลายเชนของโรงงานอุตสาหกรรม หรือการมอนิเตอร์ระบบดิน นํ้า อากาศ ความชื้นสำหรับ Smart Farming เป็นต้น

ทักษะการให้บริการ(service) ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่ทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ เช่น การใช้หุ่นยนต์ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย หุ่นยนต์เพื่อบริการลูกค้า เช่น ตามร้านอาหาร ศูนย์บริการลูกค้า หรือเพื่อใช้งานภายในองค์กร ตัวอย่าง ธนาคาร SEB ประเทศสวีเดนมีการพัฒนาหุ่นยนต์ AI ชื่อ “Amelia” ลักษณะเป็นพนักงานมนุษย์ดิจิตอล ตอบปัญหาด้านการใช้งานไอทีเบื้องต้นในองค์กรซึ่ง Amelia เรียนรู้การตอบโต้จากบทสนทนา สามารถทำงานตามสั่งและให้ข้อมูลที่พนักงานต้องการ โดยภายใน 3 สัปดาห์แรก มีบทสนทนาเกิดขึ้นกว่า 4,000 บทสนทนา จากพนักงานกว่า 700 คน และในอนาคตเตรียมจะใช้ Amelia สำหรับบริการลูกค้าด้วย

ประสาทสัมผัสสุดท้าย คือ “สัมผัสพิเศษ” การคิดวิเคราะห์ หยั่งรู้แนวโน้ม พฤติกรรมและทำนายคาดการณ์อนาคต สามารถรู้ความต้องการของลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวเอง โดยอาศัยการประมวลผลของบิ๊กดาต้า แนะนำสินค้าที่ลูกค้ามีแนวโน้มจะซื้อจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าในอดีต

เช่น โปรแกรมแนะนำภาพยนตร์ของ Netflix และ โปรแกรมแนะนำหนังสือของ Amazon รวมถึง Spotify แอพพลิเคชันบริการมิวสิกสตรีมมิ่ง เมื่อลูกค้าคลิกเลือกฟังเพลง โปรแกรมจะจดจำเรียนรู้ประวัติการเลือกเพลง โดยใช้การประมวลผลของบิ๊กดาต้าจากคลังข้อมูลนับล้านๆ เพลงที่มีทั่วโลก พร้อมแนะนำเพลงรายวันสร้างเป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัวตามรสนิยมของผู้ใช้งานแต่ละราย

การค้นหาสิ่งที่ต้องการในคลังข้อมูลจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังสือ หรือเพลงนั้น การใช้โปรแกรมเสิร์ชเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่ด้วยความฉลาดของ AI นั้นสามารถค้นหาข้อมูล และเลือกหยิบขึ้นมาเดาใจสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้อย่างโดนใจ

สัมผัสพิเศษทั้งหมดของ AI หากทำความรู้จักและเข้าใจจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เปลี่ยนจากข้อมูลดิบ พัฒนาเป็นองค์ความรู้ ก่อให้เกิดเป็นมูลค่า สร้างบริการใหม่ๆ เข้ามาเสริม ช่วยเพิ่ม โอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิตอล

……………………………………………………………….

บทความ โดย สันติ เมธาวิกุล ก.ก.ผจก.บริษัท ยูไนเต็ดอินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3405 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2561

595959859