"ซัพพลายเชน" คีย์ซักเซส 'ไทยเบฟ'

30 ก.ย. 2561 | 03:37 น.
'ไทยเบฟ' เดินหน้าพัฒนายุทธศาสตร์ วิชัน 2020 ขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชนสู่โครงการ "สมาร์ท โปรเจ็กต์" ผลักดันสู่ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน พร้อมเสริมแกร่งธุรกิจนํ้าดื่ม มุ่งสู่การกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการต้นทุน ลดเวลาขนส่ง

 

[caption id="attachment_324926" align="aligncenter" width="309"] โฆษิต สุขสิงห์ โฆษิต สุขสิงห์[/caption]

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินงานของบริษัทเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนให้มีระบบที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ การผนึกบริษัทในเครือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนหลังบ้านมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะส่งผลต่อเรื่องของต้นทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรื่องของซัพพลายเชนถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีภาระต้นทุนสูงสุดติดอันดับ 3 ของการผลิตสินค้า แต่ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตสินค้าที่ต้อง ดูแลตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบในการผลิต แพ็กเกจจิ้ง การขนส่งสินค้าถึงปลายทาง หรือ ผู้บริโภค

"เพื่อเป็นการรองรับแผนงานบริษัท อีกทั้งยังเป็นการรับนโยบายจาก "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ประธานบริษัท ที่โจทย์ใหญ่ในการขนส่งสินค้า "นํ้าดื่ม" ให้มี "กำไร" ได้ ภายในปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ 2020 ของบริษัท ที่ต้องการโฟกัสด้านการขนส่งนํ้าดื่มให้มีกำไร เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีนํ้าหนักมาก ต้นทุนในการขนส่งสูง แต่ราคาขายกลับค่อนข้างตํ่า ดังนั้น การทำตลาดนํ้าดื่มแล้วยังมีกำไร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์ ทั้งตั้งโรงงานผลิตนํ้าดื่มให้ใกล้กับตลาดมากขึ้น เพื่อลดเวลาขนส่ง"


09_โรงงานโออิชิวังม่วง

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดทำโครงการสมาร์ท โปรเจ็กต์ ออกมา เพื่อพัฒนาระบบซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการวางเป้าหมายในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าให้ได้ 18 แห่ง ภายในปี 2563 ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด บริษัทได้ทำการก่อสร้างไปแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ จ.ลำปาง ลำพูน ขอนแก่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี และหาดใหญ่ ภายใต้งบประมาณการลงทุนราว 300 ล้านบาทต่อศูนย์กระจายสินค้า ขณะที่ ในปีหน้าได้เตรียมขยายเพิ่มอีก 3-4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ตอนบนและตอนล่าง นครศรีธรรมราช บริษัทยังวางแผนจะเปลี่ยนผ่านธุรกิจซัพพลายเชนครั้งใหญ่สู่ดิจิตอล (Digital Transformation) และทำให้ซัพพลายเชนยกชั้นสู่ระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


06_โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชินวนคร

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการบริหารจัดการคลังสินค้าให้มีการหมุนเวียนสินค้าให้เร็วมากขึ้น จากเดิมการขนส่งและกระจายสินค้าใช้เวลาราว 1 เดือน ตอนนี้เหลือไม่เกิน 2 สัปดาห์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขนส่งโดยรวมไปยังตลาดเป้าหมายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับค้าปลีก ที่การขนส่งสินค้าเครื่องดื่มจะไปเป็นบัลค์ขนาดใหญ่ เพื่อให้การขนส่งเกิดความคุ้มค่ามากสุด โดยมีระบบขนส่งสินค้า ที่ประกอบไปด้วย ผลิตสินค้า แล้วส่งต่อให้รถใหญ่สุดขนส่งไปสิ้นสุดศูนย์กลาง (ฮับ) แล้วกระจายต่อไปยังเส้นทางอื่น ๆ หรือ Hub&Spoke

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บริษัทได้รับคัดเลือกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งถือว่าช่วยสร้างให้เกิดความน่าเชื่อมากขึ้น โดยได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ในกลุ่มเครื่องดื่ม แซงหน้าโคคา-โคลา สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ เพื่อรักษาการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใส่ใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทผลักดันให้บริษัทในเครือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในเป็นทิศทางเดียวกัน เช่น เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบคโค สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ มีการหารือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน (Co-Innovation) ด้านการจัดซื้อ การเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย เป็นต้น


......................................................................................................................
หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,405 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว