ชง7แนวทางขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะดีเดย์เสนอบอร์ดชุดใหญ่ไฟเขียว27ก.ย.นี้

26 ก.ย. 2561 | 11:11 น.
อนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ชง 7 กรอบแนวทางเสนอคณะกรรมการฯชุดใหญ่ มี “ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯเห็นชอบแผนการขับเคลื่อน พร้อมรูปแบบการประกวดตราสัญญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 2/2561 เกี่ยวกับความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานยกร่างเกณท์การพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ ว่าการพิจารณาร่างเกณท์การพิจารณาฯ กรอบแนวทางการเป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ เมืองที่มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้ความสำคัญ ได้รับความร่วมมือจากประชาชน มีการประเมินติดตามผลอย่างใกล้ชิด และการประกวดตราสัญญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ

sma5

โดยตามแผนยกร่างเดิมของเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ ในการประชุมครั้งที่1/2561 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ได้พิจารณาร่างเกณฑ์การพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะออกเป็น 6 กรอบแนวทาง ได้แก่ 1.ชุมชนอัจฉริยะ (สมาร์ทลีฟวิ่ง) 2.ประชากรอัจฉริยะ(สมาร์ทพีเพิล) 3.พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ(Smart Energy& Environment) 4. คมนาคมอัจฉริยะ(Smart mobility) 5.เศรษฐกิจอัจฉริยะ(สมาร์ท อิโคโนมี)และ 6.การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ(Smart Govenances)

ล่าสุดได้ปรับแก้ไขใหม่ให้เพิ่มจำนวนเป็น 7 กรอบแนวทางโดยแยกสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นหน่วยต่างหาก รูปแบบเรียกว่า สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยในการนำเสนอครั้งนี้เพื่อให้มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน มีผู้นำชุมชน หรือพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และมีการติดตาม ประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะพิจารณาต่อไป

sma1

โดยใน 7 กรอบแนวทางนั้นจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะแล้วดูว่า แนวทางไหนจะมาร่วมได้บ้างเพื่อเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ อยากให้เป็นเมืองตัวอย่าง ไม่ใช่การจับผิดใดๆ ใครจะสนใจเข้ามายื่นแบบก็ได้ที่เป็นนิติบุคคล เมื่อคณะกรรมการฯชุดใหญ่เห็นชอบก็จะเสนอเป็นเมืองอัจฉริยะได้ทันที หากเป็นเอกชนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่กำหนดไว้ พร้อมกับได้รับเครื่องหมายตราสัญลักษณ์เพื่อการนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อไปได้

“จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้(27 กันยายน) ดังนั้นในครั้งนี้จึงได้ข้อสรุปในการทำงานของการกำหนดกรอบ หลักคิดเสนอคณะกรรมการชุดใหม่ต่อไปโดยเมื่อได้รับตราสัญลักษณ์ก็จะนำไปยื่นต่อบีโอไอได้ทันที ขณะนี้ทราบว่าเอกชนก็มีดำเนินการบ้างแล้วหากจะเข้ามาในช่องทางของรัฐบาล ก็สามารถยื่นเข้ามาตามที่กำหนดไว้นี้ได้ เบื้องต้นนั้นยังยึดเรื่องการให้สิทธิพิเศษตามที่บีโอไอกำหนดไว้ทุกประการ ประการสำคัญหากได้รับตราสัญลักษณ์ก็สามารถนำไปขอยกเว้นกฎระเบียบบางข้อได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนั้นยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี โดยคณะกรรมการชุดใหญ่นั้นมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน”

sma2

สำหรับ 7 กรอบแนวทางการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ประกอบไปด้วย 1.ชุมชนอัจฉริยะ (สมาร์ทลีฟวิ่ง) ประชาชนมีสุขภาพดี เมืองปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว 2.ประชากรอัจฉริยะ(สมาร์ทพีเพิล) พลเมืองมีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด และการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม 3.พลังงานอัจฉริยะ(Smart Energy) ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพลังงานทางเลือก 4.คมนาคมอัจฉริยะ(Smart mobility) ความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน การเดินทางสะดวก ปลอดภัย ประสิทธิภาพการจัดการระบบโลจิสติกส์ การแบ่งปัน และการใช้ยานพาหนะประหยัดพลังงาน

5.เศรษฐกิจอัจฉริยะ(สมาร์ท อิโคโนมี) ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ การประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจ 6.การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ(Smart Govenances) การเข้าถึงบริการภาครัฐ พลเมืองมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 7.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ(Smart Environment) คือการดูแลรักษาทรัพยากร การจัดการมลพิษ การรักษาสมดุลจากการพัฒนาเมือง และประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการติดตามสภาวะแวดล้อม

sma3

sma4

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว