ไทยพร้อมรับ 'อียู' ตรวจการบ้าน!! นับถอยหลัง "ปลดใบเหลือง"

28 ก.ย. 2561 | 05:09 น.
นับแต่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือน เม.ย. 2558 จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) หน่วยงานต่าง ๆ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการแก้ปัญหาอย่างเข้มข้น ทั้งจัดระเบียบกองเรือประมงใหม่ ผ่านกฎหมายกฎกระทรวงกว่า 300 ฉบับ ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ แต่การดำเนินการทั้งหมดนั้นจะมีนํ้าหนักเพียงพอที่อียูจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากสถานะใบเหลือง เป็นใบเขียวได้หรือไม่ ... "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "อดิศร พร้อมเทพ" อธิบดี
กรมประมง ถึงความก้าวหน้าและความพร้อมของไทย ที่จะโชว์ผลงานให้เข้าตาคณะผู้แทนอียู ที่จะเข้ามาประเมินระบบการควบคุมการทำประมงไทยปลายเดือนนี้ รวมถึงเรื่องที่กรมประมงจะต้องเร่งดำเนินการในช่วงนับจากนี้ไป

 

[caption id="attachment_323851" align="aligncenter" width="405"] อดิศร พร้อมเทพ อดิศร พร้อมเทพ[/caption]

พร้อมรับ 'อียู' ตรวจการบ้าน
นายอดิศร กล่าวว่า ไม่หนักใจที่คณะอียูจะมีมาครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยกับเจ้าหน้าที่คณะทำงานของอียูก็ทำงานร่วมกันมานานแล้ว การมาครั้งนี้จึงมีความมั่นใจ และการมาตรวจจะมีความคล้ายลักษณะเดิมในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ จะเห็นความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์นํ้าของไทย มีการยกระดับมาตรการควบคุมเรือเข้า-ออก ตามมาตรการควบคุมของรัฐเมืองท่า ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันระหว่างกรมศุลกากร กรมเจ้าท่า และกรมประมง ทำให้กำกับดูแลเรือที่เข้ามาในน่านนํ้าไทยได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดสายการผลิตและแปรรูปอาหารทะเลของไทยจะปราศจากสัตวนํ้าที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจที่มาของการทำประมง การตรวจสอบชนิดและนํ้าหนักสัตว์นํ้าในสมุดบันทึกทำการประมงเทียบกับชนิดและนํ้าหนักสัตว์นํ้าที่ขึ้นท่า และการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์นํ้าการตรวจสอบ นํ้าหนักสัตว์นํ้าที่ใช้ในการแปรรูป หรือ ส่งออก โดยระบบจะตัดจากยอดนํ้าหนักคงเหลือ เพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนำสัตว์นํ้าที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเข้ามาในระบบ และการออกใบรับรองการจับสัตว์นํ้า (Catch Certificate) ว่า มิได้เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU สำหรับส่งออกไปยังประเทศที่ 3


ประมง

นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ และการจัดทำ Mobile Application สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลการขนถ่ายสัตว์นํ้าจากเรือไปยังหน้าท่าและไปสู่โรงงาน เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงการพัฒนามาตรการควบคุมการนำเข้าสัตว์นํ้าทางตู้คอนเทนเนอร์ รถบรรทุก และทางอากาศ เพื่อลดโอกาสในการลักลอบนำสัตว์นํ้าผิดกฎหมายเข้ามาสู่สายการผลิตในไทยอีกด้วย

"การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของการปฏิรูปภาคประมงของไทย ซึ่งขณะนี้ ระบบได้ดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว และจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่จะเป็นประเทศปลอดจากสัตว์นํ้าและสินค้าประมงที่มาจากการทำประมง ไอยูยู และเป็นแบบอย่างที่ดีของการป้องกันปัญหาประมงไอยูยูในภูมิภาคต่อไป


เรือไทยสู่ค่า MSY ยั่งยืน
นายอดิศร กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการลดจำนวนเรือ การควบคุมวันทำประมง เพื่อคำนวณการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์นํ้า (MSY) ทะเลไทย ตัวเลขยังไม่ชัดเจน เนื่องจากปลาเองจะต้องอาศัยเวลาที่จะฟื้นกลับมา แต่ถ้าพิจารณาจากข้อมูลเรือที่ออกไปจับปลา จะเห็นว่า ในแต่ละลำสามารถจับปลาได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดระเบียบกองเรือประมง ทั้งประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน ในช่วงปี 2558-2560 มีเรืออยู่มากกว่า 5 หมื่นลำ แต่ปัจจุบัน จำนวนเรือประมงไทย (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2561) มีจำนวน 3.76 หมื่นลำ แบ่งเป็น เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 2.7 หมื่นลำ เรือประมงพาณิชย์ที่มาขอใบอนุญาตทำการประมง 1.06 หมื่นลำ


ประมง9

จะเห็นได้ว่า การทำประมงไทยได้เปลี่ยนแปลงจาก "เสรี" เป็นการทำการประมง "จำกัด" ซึ่งควบคุมโดยการออกใบอนุญาตทำประมง และใบอนุญาตใช้เรือที่สอดคล้องกับปริมาณสัตว์นํ้า ประสิทธิภาพของเครื่องมือประมง และการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่ได้มองว่า ไทยจะปลดใบเหลืองสำเร็จหรือไม่ แต่มุ่งที่จะรักษาทรัพยากร นี่คือ เป้าหมายสำคัญ


ขึ้นทะเบียนอาชีพประมง
"ส่วนของการจัดระเบียบประมงพื้นบ้านนั้น จากการประชุมล่าสุด เจ้าของเรือนั้นก็ยังไม่ทราบขนาดเรือเลย เพราะวิธีการวัดขนาดเรือเปลี่ยนแปลง เรือมีจำนวนมากที่จะต้องมาทำอัตลักษณ์ มาจดทะเบียนเรือ เพื่อให้ทราบจำนวนที่ชัดเจนขึ้น โดยคุณสมบัติเรือประมงพื้นบ้านจะต้องมีขนาดเรือตํ่ากว่า 10 ตันกรอส ดังนั้น ในระหว่างนี้จะต้องมาพิจารณาบุคลากรของฝ่ายรัฐ มีมากน้อยแค่ไหนที่จะลงไปทำ ทำไหวหรือไม่ และเรือ 9,000 ลำ ที่กรมเจ้าท่าเพิกถอนทะเบียนเรือไปล่าสุด ที่ไม่มาขอต่อใบอนุญาตภายใน 30 วัน ตามที่กำหนด ก็มาดูว่า มีเจ้าของเรือมาอุทธรณ์กี่ราย จะได้รับอนุมัติหรือไม่"


090861-1927-9-335x503

ขณะที่ ในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพประมง คาดว่า ประมาณกลางเดือน ต.ค. นี้ เป็นต้นไป จะนำร่อง 22 จังหวัดชายทะเลก่อน จะไม่มีการหมดเขต เป็นไปตามข้อเรียกร้องที่ต้องการมีตัวตน หรือ เกิดภัยพิบัติ รัฐบาลจะได้มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มนี้ ดังนั้น จะเห็นว่าการปฏิรูปกองเรือประมงไทย ... วันนี้ก้าวไปสู่สากล ไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นก้าวสำคัญที่จะปกป้องอุตสาหกรรมประมงไทย ปีละ 2 แสนล้านบาท


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,404 วันที่ 27-29 กันยายน 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว