อุตุฯ ยัน! พายุ "จ่ามี" ไม่กระทบไทย - ลุ้นฝนเพิ่ม "36 เขื่อน" วิกฤติน้ำน้อย

26 ก.ย. 2561 | 04:30 น.
ปภ. โล่ง! กรมอุตุฯ ยันพายุ "จ่ามี" ไม่กระทบไทย เคลื่อนผ่านไต้หวันเข้าสู่ประเทศญี่ปุน ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เตือนคนไทยในญี่ปุ่นรับมือ ด้าน สทนช. ชี้! 36 เขื่อน วิกฤติผวาแล้ง ลุ้นฝนตกอีกระลอก หวังเติมน้ำเพิ่ม



kobchai

นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" พยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาจับตาพายุไต้ฝุ่นจ่ามี บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไต้หวัน วันที่ 28-29 ก.ย. 2561 และเคลื่อนเข้าประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 30 ก.ย. 2561 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ว่าไทยยังคงเผชิญมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย คาดว่า ในวันที่ 28-29 ก.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและอาจมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.นครนายก 3 อำเภอ 19 ตำบล 140 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,588 ครัวเรือน 2.54 หมื่นคน


318063

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 26 ก.ย. 2561 ว่า สภาพอากาศวันนี้ (26 ก.ย.) ต่อเนื่องถึงพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยลง ไม่พบพื้นที่เสี่ยงภัยจากฝนตกหนัก โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.เชียงราย 63 มม. ลำพูน 63 มม. ตาก 45 มม., ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี 51 มม. ปราจีนบุรี 36 มม., ภาคตะวันตก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 51 มม. กาญจนบุรี 45 มม. และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช 83 มม. ระนอง 75 มม. สุราษฏร์ธานี 49 มม. สงขลา 47 มม. ตรัง 43 มม. ชุมพร 48 มม. ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 1 ต.ค. 2561 ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


1057805

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่า อ่างฯ ขนาดใหญ่+กลาง ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มี 55,736 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 3,397 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 รับน้ำได้อีก 16,938 ล้าน ลบ.ม ซึ่งยังมีอ่างฯ ที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% ขนาดใหญ่ 10 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27%, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนลำพระเพลิง 59% เขื่อนห้วยหลวง 50% เขื่อนลำนางรอง 34% เขื่อนอุบลรัตน์ 33%, ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 42% เขื่อนทับเสลา 27% และภาคใต้ เขื่อนบางลาง 46% ขณะที่ อ่างฯ ขนาดกลางจำนวน 126 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 28 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 66 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 18 แห่ง ขณะที่ อ่างเฝ้าติดตามน้อยกว่า 30% มีทั้งแห่งสิ้น 36 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 27% ยังคงที่ เขื่อนทับเสลา 27% เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 1% ขนาดกลาง 34 แห่ง เป็นภาคเหนือ 6 แห่ง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง


1057803

"ศูนย์เฉพาะกิจฯ มีความเป็นห่วงอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ที่อาจจะกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนหลังสิ้นสุดฤดูฝนนี้ได้ โดยเฉพาะอ่างเฝ้าติดตามที่มีปริมาณน้อยกว่า 30% ของความจุ ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานถานการณ์ล่วงหน้าด้วยแล้ว" นายสำเริง กล่าว


595959859