ทุ่ม1พันล้านดันไทยฮับอีวี  สถาบันยานยนต์ผุดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

27 ก.ย. 2561 | 10:13 น.
“สถาบันยานยนต์” รับลูกรัฐบาลหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เล็งสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่แห่งแรกในอาเซียน ตั้งงบลงทุน 1,000 ล้านบาท เริ่มเดินหน้าโครงการปี 2562 พร้อมเสริมหน่วยวิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่รองรับเทรนด์โลก

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้าหมายภายในปี 2579 จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ ส่งผลให้หลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ภาคเอกชน, กลุ่มชิ้นส่วน และ อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องมีการตื่นตัว เช่นเดียวกับสถาบันยานยนต์ที่รับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานระหว่างเอกชนและรัฐ ก็ได้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่

MP32-3404-A

“เราเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์ Next Generation Automotive Research Center) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะติดตามความเคลื่อนไหว เพื่อนำไปวิเคราะห์และนำเสนอให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ได้นำข้อมูลของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด “นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าว และว่า

นอกจากการตั้งศูนย์วิจัยฯแล้ว ตามเป้าหมายของสถาบันยานยนต์คือ การขยายศักยภาพทางเทคโนโลยีเครื่องมือการทดสอบสำหรับมาตรฐานยานยนต์อนาคตและระบบงานมาตรฐานสากล เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิคของอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับสากล โดยปัจจุบันสถาบันยานยนต์กำลังดำเนินงานเพื่อร่างแผนแม่บทฉบับใหม่ของอุตสาห กรรมยานยนต์ ปี 2563- 2567 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

อีกหนึ่งแผนงานที่สถาบันยานยนต์เร่งมือคือการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยรัฐบาลวางกรอบลงทุนทั้งสิ้น 3,705 ล้านบาท ซึ่งภายในศูนย์ฯจะประกอบไปด้วย ศูนย์ทดสอบล้อยางตามมาตรฐาน UN R117 ที่เริ่มแผนการก่อสร้างและเตรียมเปิดภายในสิ้นปีนี้ ส่วนสนามทดสอบยานยนต์ (Proving Ground) ที่จะมีสนามทดสอบย่อยอีก 8 สนามเพื่อทดสอบในรูปแบบต่างๆ ในส่วนนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องแบบของสนามภายในปี 2562

“สนามทดสอบยานยนต์มีการปรับแผนใหม่ ซึ่งอาจจะล่าช้าจากแผนงานเดิมที่ได้ประกาศไว้เล็กน้อย แต่คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะแล้วเสร็จ ส่วนตัวสนามทดสอบล้อยางนั้น หลังจากมีการวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะได้เห็นภายในสิ้นปีนี้  และตัวอาคารจะเริ่มแล้วเสร็จในปีหน้า โดยศูนย์ทดสอบแห่งนี้ถือเป็นรายแรกของอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นผู้นำด้านการทดสอบและรับรองชิ้นส่วนและยางล้อของภูมิภาคนี้”

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่สถาบันยานยนต์กำลังมีแผนจะทำคือ EV Battery Testing หรือศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งถือเป็นแห่งแรกของอาเซียน ที่มีกระบวนการทดสอบ 9 รายการตามมาตรฐาน UN R100  ประกอบไปด้วย 1. Vibration 2. Thermal Shock 3. mechanical shock 4.Fire Resistance 5. Mechanical Integrity 6.Short Circuit 7. Over Charge 8.Over-Discharge 9. Over temperature โดยศูนย์แห่งนี้จะเริ่มดำเนินงานในปี 2562 และในเฟสแรกจะทดสอบเบื้องต้น 5 ข้อ หลังจากนั้นในเฟส 2 ที่คาดว่าจะเริ่มปี 2563 ก็จะสามารถทดสอบทั้ง 9 กระบวนการ

090861-1927-9-335x503-8-335x503

“งบลงทุนในส่วนของศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่อีวีจะไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการได้แก่ ผู้ผลิตแบตเตอรี่เอกชนทั่วไป หรือผู้ผลิตรายใหม่ๆ รวมไปถึงผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งสามารถที่จะมาใช้บริการได้ และผู้ผลิตที่ผ่านการทดสอบสามารถที่จะต่อยอดด้วยการขายในประเทศ หรือส่งออกก็ได้”

นายอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ที่จะมีขึ้นในไทย จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองการใช้งานได้ เพราะในประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศทั้งร้อน, หนาว รวมไปถึงมี
นํ้าท่วม และสภาพท้องถนนก็มีหลายแบบ ซึ่งผลการทดสอบก็สามารถนำไปอ้างอิงกับสมอ.ได้ หรือในกรณีที่ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา ก็สามารถนำโนว์ฮาวต่างๆไปพัฒนาต่อได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ในเบื้องต้นยังไม่ได้ประเมิน

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในเริ่มแรกรัฐบาลอยากให้ผู้ผลิตเข้ามาลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันก่อน และในอนาคตอาจจะมองไปถึงการเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน

“ระยะแรกเรามีการสนับสนุนเกี่ยวกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี หรือส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐใช้ฟลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงแผนส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่มีเงื่อนไขค่อนข้างดี และจูงใจให้เกิดการลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทางกระทรวงพลังงาน ก็มีผู้มาขอประกอบธุรกิจสถานีชาร์จไฟหลายราย  ส่วน สมอ.ก็มีหน้าที่วางมาตรฐานด้านต่างๆให้พร้อม และที่สำคัญคือการจัดการของที่เหลือใช้หรือพวกที่ต้องรีไซเคิลว่าจะต้องทำอย่างไร ก็มีการพูดคุยกันอยู่”

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 12 ของโลก โดยมีผู้ประกอบการค่ายรถต่างๆเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต 24 ราย แบ่งออกเป็นรถยนต์ 17 ราย, รถจักรยานยนต์ 7 ราย และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกกว่า 2,000 ราย ขณะที่กำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 3 ล้านคันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตจริงประมาณ 2 ล้านคัน และมียอดส่งออกสูงกว่า 1 ล้านคันต่อปี ส่วนยอดขายในประเทศของปีนี้ก็คาดว่าจะอยู่ที่ 9.8 แสน-1 ล้านคัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสร้างรายได้คิดเป็น 2% ของจีดีพีประเทศ

...ถือเป็นความคืบหน้าจากฝั่งรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ ขณะที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะค่ายรถยนต์ต่างๆมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถไฮบริด  ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน ส่วนกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริดได้แก่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ,บีเอ็มดับเบิลยู ล่าสุด เอ็มจี ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากบีโอไอ

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,404 วันที่ 27 - 29 กันยายน พ.ศ. 2561

23626556-10