อุตฯรถยนต์อเมริกันอ่วม โดน2เด้งสงครามการค้า

29 ก.ย. 2561 | 09:33 น.
ผลสำรวจล่าสุดของหอการค้าอเมริกันในจีนชี้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯเองจะเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา โดยจะได้รับผลกระทบทั้งจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯของฝ่ายจีน และจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของฝ่ายสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังพบว่าเพื่อเป็นการบรรเทาความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น มีบริษัทอเมริกันส่วนหนึ่งกำลังโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานผลการสำรวจของหอการค้าอเมริกันระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในท่ามกลางดงกระสุนที่ทั้งสองฝ่ายสาดเข้าใส่กัน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ (ทั้งคัน) จากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 40% ขณะที่เพิ่งจะลดภาษีให้กับรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ จากเดิม 25% เหลือเพียง 15% ทำให้รถยนต์ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯมีราคาสูงขึ้นมาก และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน

ในบรรดาบริษัทที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯที่ตอบแบบสอบถามการสำรวจครั้งนี้ 80.5% ตอบว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีรอบแรกของสหรัฐฯ (ซึ่งมีมูลค่ารวม 50,000 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ 75% ตอบว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีรอบแรกของฝ่ายจีน โดยภาพรวมแล้วบริษัท อเมริกันราว 60% ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทั้งสองฝ่าย กล่าวได้ว่าบริษัทที่มีโรงงานตั้งอยู่ในจีนและบริษัทที่มีเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตกระจายอยู่ในจีนล้วนได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

090861-1927-9-335x503-8-335x503

นอกจากนี้ มากกว่า 60% ของบริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจยังยอมรับว่า มาตรการขึ้นภาษีทำให้บริษัทมีกำไรลดลง แต่มีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจจึงกำลังพิจารณาแผนจะโยกย้ายฐานการผลิตหรือแหล่งจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนประกอบ ออกไปนอกประเทศจีนและสหรัฐ อเมริกา ทั้งนี้ 1 ใน 3 ตอบว่า กำลังมีแผนโยกย้ายจากจีนมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

การสำรวจครั้งนี้มีบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าอเมริกัน (AmCham) ในเซี่ยงไฮ้และในจีน เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่า 430 บริษัท ในจำนวนนี้ 36 บริษัทอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ อาทิ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฟอร์ด บีเอ็มดับบลิว กู๊ดเยียร์ และฮาร์ลีย์- เดวิดสัน การสำรวจมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-5 กันยายนที่ผ่านมา

.....................................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,404 ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว