“กรุงไทย”แจงขายที่กฤษดาฯช้า เหตุกรรมสิทธิ์เนื้อที่ในโฉนดผิด

24 ก.ย. 2561 | 09:34 น.
“กรุงไทย”แจงขายที่กฤษดาฯช้า เหตุกรรมสิทธิ์เนื้อที่ในโฉนดผิด

แบงก์กรุงไทย แจงปมขายที่ดิน  “กฤษดามหานคร”  ล่าช้า เหตุระบุกรรมสิทธิ์เนื้อที่ในโฉนดผิด ก่อนจำนอง เร่ง บังคับคดีขายทอดตลาด

Untitled-1-172

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์  ทำหนังสือชี้แจง กรณีคอลัมน์มารยาตลาดหุ้น โดยคุณนายเผือก ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่  23-26 กันยายน 2561 กล่าวถึงอุปสรรคที่ทำให้การประมูลขายที่ดินของบมจ.กฤษดามหานคร หรือปัจจุบันคือ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีอาญา จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ล่าช้ามาโดยตลอด ว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย  ของธนาคารกรุงไทยบกพร่อง นั้น

เรื่อง

ธนาคารกรุงไทยขอเรียนชี้แจงว่า นับตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกาฯ) มีคำพิพากษา ธนาคารได้เร่งรัดดำเนินการบังคับคดีอย่างเต็มที่และต่อเนื่องในทุกวิถีทาง เพื่อเรียกคืนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ซึ่งผลจากการทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้ธนาคารได้รับชำระค่าความเสียหายบางส่วนในคดีอาญาฯ มาแล้วเป็นจำนวน 1,635 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2560 ขณะเดียวกัน ธนาคารได้เร่งดำเนินการบังคับคดีอย่างเข้มข้น ทำให้มีการประกาศขายทอดตลาดหลักประกันจำนวน 4,300 ไร่

สำหรับการประกาศขายทอดตลาดหลักประกัน ธนาคารขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการและปฏิบัติอย่างเต็มที่โดยรวดเร็วที่สุด ตามขั้นตอนการบังคับคดีอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กรณีที่ศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีในช่วงต้น เนื่องจากมีผู้ร้องว่ามีโฉนด 1 แปลง (ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่น) มีการระบุกรรมสิทธิ์เนื้อที่ในโฉนดผิดไป โดยการระบุเนื้อที่ผิดได้เกิดขึ้น ก่อนหน้าการนำโฉนดมาจำนองประกันหนี้ให้ธนาคารในปี 2547  ซึ่งเรื่องนี้ ธนาคารได้เร่งดำเนินการประสานเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง จากความผิดพลาดในอดีตที่ธนาคารไม่ได้กระทำ จนเป็นเหตุให้ศาลฏีกาฯ มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งงดบังคับคดีในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 และส่งผลให้กรมบังคับคดีสามารถประกาศขายทอดตลาดได้ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561

ktb050355-04-20120306100601

“ธนาคารกรุงไทยขอเรียนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นทุกทางตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อเรียกคืนความเสียหายให้กับธนาคาร และเหตุของความล่าช้าในการบังคับคดีขายทอดตลาด มิได้เกิดจากการกระทำของธนาคารหรือหน่วยงานใดของธนาคาร ในทางกลับกัน ธนาคารและหน่วยงานของธนาคารได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างเต็มที่ จนธนาคารได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายมาบางส่วน และนำมาสู่การประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวได้ในเวลาที่รวดเร็ว ทั้งนี้ ธนาคารจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเร่งดำเนินการบังคับคดี และให้การประกาศขายทอดตลาดครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สูงสุดของธนาคาร และผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน”