‘บัญชีกลาง’ลั่นดูแลผู้ประกอบการไทย ร่วมCPTPPเปิดต่างชาติประมูลงานรัฐ

24 ก.ย. 2561 | 02:00 น.
 

แม้ภาพรวมจะเห็นว่า รัฐบาลกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายสีเขียว สีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย สีชมพู สีเหลือง สีส้มและสีม่วงใต้ แต่การเบิกจ่ายงบประมาณกลับพลาดเป้าไปมาก โดยเฉพาะงบลงทุน ที่ผ่านไป 10 เดือน แต่เบิกจ่ายได้เพียง 2.95 แสนล้านบาท หรือ 51.13% ตํ่ากว่าเป้าหมาย 21.05%

[caption id="attachment_321180" align="aligncenter" width="503"] สุทธิรัตน์ รัตนโชติ สุทธิรัตน์ รัตนโชติ[/caption]

“สุทธิรัตน์ รัตนโชติ” อธิบดี กรมบัญชีกลาง กล่าวยอมรับว่า ทั้งงบประมาณปี 2561 การเบิกจ่ายงบลงทุนน่าจะพลาดเป้าไปเกือบ 30% ซึ่งเป็นผลจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะผิดพลาด อย่างหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง พอจัดประมูลคัดเลือกจนเหลือรายเดียวแล้วยกเลิกไปและมายื่นอุทธรณ์ ซึ่งกฎหมายเดิม ยังสามารถทำงานควบคู่กันไปได้จนกว่าผลอุทธรณ์จะออกมา แต่กฎหมายใหม่ ขบวนการทั้งหมดต้องหยุดไว้ก่อนในระหว่างอุทธรณ์

สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2560 ภาพรวมทำได้ 94% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 96% ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ดี เพราะมีตัวช่วยจากการที่กฎหมายใหม่จะบังคับใช้ คนกลัวจะเข้ากฎหหายใหม่เลยรีบเซ็นสัญญา รีบก่อหนี้ แต่กฎหมายใหม่บังคับใช้ไป ก็เกิดความกลัวอีก กลัวที่จะผิด ไม่ทำอะไร ทำให้ปีนี้ทั้งปีภาพรวมน่าจะเบิกจ่ายได้เพียง 93% จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 94%

พอขึ้นปีที่ 3 ของการบังคับใช้กฎหมาย เชื่อว่า การเบิกจ่ายต้องดีขึ้น เพราะเข้าใจหมดแล้วว่า กลัวแล้วไม่เข้ากฎหมายเป็นอย่างไร เข้าแล้วเป็นอย่างไร ดังนั้นปีที่ 3 นี่จะเข้าสู่ธรรมชาติ เพราะรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ใหม่ ก็ให้ออกหมดแล้วทั้ง 33 แห่ง พวกที่ไม่ออกแสดงว่าอยู่ได้แล้วใช้เวลามา 1 ปีอย่างการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่

090861-1927-9-335x503-8-335x503

นอกจากนั้นในงบประมาณปี 2562 ยังมีตัวเร่งเพิ่มขึ้นอีกคือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอลงพระปรมาภิไธย ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ โครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจะถูกพับไปหมด ไม่สามารถกันงบเหลื่อมปีได้อีก จะทำให้ทุกคนเร่งหนีกฎหมายใหม่เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาส่วนราชการสามารถกันงบเหลื่อมปีได้ทั้งแบบที่มีหนี้ คือเซ็นสัญญาไว้แล้ว กับแบบไม่มีหนี้ คือยังไม่เซ็นสัญญา แต่ครั้งนี้สนช.เล่นแรงคือ กันแบบไม่มีหนี้ให้สูญพันธุ์ไป

ส่วนกรณีที่รัฐบาลให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเจรจา“ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”(Comprehensive and Progressive for Trans-Pacific Partnership-CPTPP)  “สุทธิรัตน์” บอกว่า ต้องให้รัฐบาลตัดสินใจก่อนว่า จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมแล้วจึงมาศึกษาประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการเปิดให้ต่างชาติ โดยเฉพาะที่เป็นประเทศสมาชิก 11 ประเทศเข้าประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้นั้น ไม่ต้องกลัว เพราะมันเป็นเรื่องที่เรากังวลอยู่แล้ว ถ้าทำต้องมีวิธีการดูแลผู้ประกอบการไทยอยู่แล้ว ไม่ปล่อยให้ประเทศชาติเป็นแบบนั้นหรอก

“ไม่มีใคร ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติหรอก จะปล่อยให้ต่างชาติเข้ามา แล้วทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน จะเป็นไปได้อย่างไร ไม่เคยอยู่ในความคิดของพวกเราอยู่แล้ว การเข้าร่วม CPTPP มันมีข้อดีข้อเสีย คนที่เป็นกลาง หน่วยงานกำกับ ก็ต้องดูแลอย่างดี”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างปัจจุบัน มีข้อรองรับอยู่แล้ว อย่าง e-bidding ที่หากไปใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ก็อาจจะมีข้อบังคับว่า ต้องใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของเขา เช่น กรณีใช้เงินกู้ของเอดีบี การไปหาคนมาทำงานจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้กติกาเขา และถ้าต่างชาติจะมาประมูลงานภาครัฐ ก็ทำได้ภายใต้ Inter Bid ซึ่งใช้บังคับกับทั้งต่างชาติ หรือคนไทย ที่มีคุณสมบัติทำงานที่รัฐบาลไทยกำหนดก็เข้ามาได้หมด ถ้าเข้าเขาก็ใช้กฎหมายไทย

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23 - 26 กันยายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7