กกต. เปิดปฏิทินแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. จบ 5 พ.ย. นี้

19 ก.ย. 2561 | 08:30 น.
ประธาน กกต. แจงปฏิทินแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. จบ 5 พ.ย. นี้ ชี้! พรรคการเมืองมีเวลาหาผู้สมัครไม่น้อยกว่า 30 วัน

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แถลงถึงการออกระเบียบว่าด้วยแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. และการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ว่า กกต. ประมาณการว่า เมื่อ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุบเกษา มีเวลา 90 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน 30 วันที่เหลือ เปิดให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งขั้นตอนการแบ่งเขตจะเริ่มในวันนี้ (19 ก.ย.) คือ ผอ.กกต.ประจำจังหวัด ใช้เวลา 14 วันนับจากวันนี้เป็นต้นไป เพื่อกำหนดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 3 รูปแบบ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 6 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตฯ อาทิ การคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน การอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ต.ค. 2561


อิทธิพร บุญประคอง3

จากนั้นภายใน 10 วัน ผอ.กกต.ประจำจังหวัด จะติดประกาศให้ประชาชน-พรรคการเมืองทราบ เพื่อรับฟังความคิดเห็น เมื่อครบกำหนดก็จะใช้เวลา 3 วัน ในการประมวลความเห็นและปรับปรุงทั้ง 3 รูปแบบ คือ วันที่ 13 ต.ค. ก่อนส่งให้ กกต. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ซึ่งก็จะครบกำหนดในวันที่ 5 พ.ย. จากนั้นเป็นขั้นตอนให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 6 พ.ย. รวมแล้วประมาณ 55 วัน หากทำเร็วก็จะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาในการหาตัวผู้สมัครโดยไม่น้อยกว่า 30 วัน

"ยืนยันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามหลักการเรื่องจำนวนราษฎรและจำนวน ส.ส. ที่เปลี่ยนแปลงไป กกต. ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นธรรม จึงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น"

นายอิทธิพร ยังกล่าวกรณีนายกรัฐมนตรีระบุมีขบวนการชักชวนประชาชนให้กาบัตรเสีย ว่า หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ กกต. ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หากมีมูลก็ต้องรีบดำเนินการหาหลักฐาน แต่ในฐานะ กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งและทำให้เกิดความมั่นใจว่า มีความพร้อมที่จะดำเนินการ ส่วนการหาเสียงยังต้องอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 จนกว่าจะมีการเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงได้ ซึ่งการหาเสียงต้องไม่กระทบกับการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม

"ในฐานะ กกต. ทุกอย่างชัดเจนแล้ว มีกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมาย ส.ว. มีผลแล้ว กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลวันที่ 11 ธ.ค. นี้ ทำให้มั่นใจ การออกระเบียบ เตรียมบุคคลากร เราจะมีการเลือกตั้ง 150 วัน หลังจากนั้น ทุกคนต้องมีความพร้อม ข่าวก็เป็นความเห็นของปัจเจกบุคคลที่มีความห่วงใยได้"

ส่วนการเชิญพรรคการเมืองประชุมหารือในวันที่ 28 ก.ย. นั้น เพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนและความเข้าใจร่วมกัน เพื่อตอบข้อสงสัยที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากมาย สำหรับในเรื่องของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียงนั้น ขณะนี้ คสช. ก็ยังไม่ได้มีการประสานมาที่ กกต. เพื่อที่จะให้มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการประชาสัมพันธ์ หรือ ติดต่อสื่อสาร ที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กำหนดให้พรรคสามารถใช้โซเชียลมีเดียติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรคและสมาชิกพรรคได้ ถือเป็นการคลายล็อกแล้ว แต่การจะหาเสียงคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองยังคงอยู่ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ยังอยู่ ดังนั้น จึงยังหาเสียงไม่ได้

ส่วนความคืบหน้าการยกร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ขณะนี้มีความคืบหน้าไปอย่างน่าพอใจ ถ้าถึงเวลาที่มีการหาเสียงได้ เราคงไม่ห้ามหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่หาเสียงอย่างไรให้เหมาะสม ไม่กระทบกับการเลือกตั้ง เพราะการโจมตีกันในทางกฎหมายอาญาก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้น ระเบียบที่ออกมา คงไม่ถึงกับควบคุม เพียงแต่อาจจะมีบทบัญญัติว่า จะทำอะไรให้แจ้ง ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อยุติ


e-book-1-503x62-7