แว่นตาแฟชั่นเปิดศึกออนไลน์

23 ก.ย. 2561 | 00:30 น.
ชี้เทรนด์ตลาดแว่นตาหมื่นล้านบาทเมืองไทยระอุ เอสซีลอร์ ทุ่มงบเพิ่มเท่าตัวส่งแบรนด์ “โบลอง” เจาะตลาดพรีเมียมแมส พร้อมชู “ออนไลน์ พรีเซนตอร์” ขยายฐานคนรุ่นใหม่ หวังสร้างการรับรู้แบรนด์-ไล่บี้สินค้าก็อบปี้

นางสาวกัลย์ธีรา ชาครียวณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แผนกกรอบแว่นตา บริษัท เอสซีลอร์ ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์โบลอง (BOLON) ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น และใช้งบประมาณด้านการตลาดเพิ่มเป็นเท่าตัว จากปีนี้ที่ใช้ราว 10 ล้านบาท โดยจะเน้นการทำตลาดไปที่ช่องทางออนไลน์ พรีเซนเตอร์อย่าง “ใหม่-ดาวิกา” ควบคู่กับการใช้สื่อนอกบ้าน (OUT OF HOME) เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนเมืองผ่านการใช้สื่อบนรถไฟฟ้าบีทีเอสมากขึ้น

[caption id="attachment_319158" align="aligncenter" width="328"] กัลย์ธีรา ชาครียวณิชย์ กัลย์ธีรา ชาครียวณิชย์[/caption]

“แม้กลุ่มแว่นตาแฟชั่นจะเป็นตลาดนิชมาร์เก็ตสูง แต่กลับพบว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตบนโลกเทคโนโลยีและออนไลน์ ให้ความสำคัญต่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ชื่นชอบแฟชั่นตามกระแสเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งนี้พบว่าแว่นตาแฟชั่นจะได้รับความนิยมสูงมาก หากมีดารา-เซเล็บ เลือกสวมใส่และลงบนสื่อออนไลน์ มาเป็นสร้างการรับรู้แบรนด์”

บริษัทยังได้เตรียมพัฒนาคอนเทนต์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ในการเลือกซื้อแบรนด์โบลองของแท้ เพราะที่ผ่านมามีสินค้าเลียนแบบเกิดขึ้น และนำไปจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ตามมาร์เก็ตเพลสต่างๆ โดยขายสินค้าในราคาถูกแค่ระดับ 1,000 บาท หรือตํ่ากว่านั้น จากปกติราคาสินค้าของบริษัทจะอยู่ระดับ 4,000 บาทขึ้นไป นับเป็นปัจจัยลบที่สร้างผลกระทบแก่ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแก่บริษัท ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายแบรนด์โบลองมากกว่า 400-500 แห่ง และกำลังเตรียมขยายเพิ่มทุกปี

พร้อมกันนี้วางเป้าหมายยอดขายแว่นตาแบรนด์โบลองในสิ้นปีนี้ไว้ที่ราว 3-4 หมื่นชิ้น หรือคิดเป็นยอดขายกว่า 176 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่มาจากกรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40% โดยวางเป้าหมายในปีหน้าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้เป็นเท่าตัวหรือราว 8 หมื่นชิ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทรุกตลาดพร้อมกับสร้างการรับรู้แบรนด์มากขึ้น โดยปัจจุบันเอสซีลอร์มีรายได้จาก 3 ส่วนหลัก คือ 1. เลนส์ 90% 2. กรอบแว่นตา และเครื่องมือเกี่ยวกับระบบการมองและสายตา ซึ่งในส่วนของเลนส์นั้นถือเป็นรายเดียวที่นำเสนอนวัตกรรม “แอร์แวร์” ส่วนกรอบแว่นตาที่นำเข้าและจัดจำหน่าย มีกว่า 8-10 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เนม อย่าง กุชชี่ เวอร์ซาเช่ และคาร์เทียร์ ที่เป็นแบรนด์ล่าสุดที่ได้มา ขณะที่รายได้รวมบริษัทปีนี้มองว่าจะทำได้ใกล้เคียง 1,000 ล้านบาทตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี

อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาพรวมตลาดแว่นตาเมืองไทยปัจจุบันมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 2 หลักทุกปี โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพการใช้สายตาและดวงตามากขึ้น ซึ่งกลุ่มแว่นสายตายังเป็นตลาดใหญ่กว่า 90% ส่วนกลุ่มแว่นตาแฟชั่นและกันแดดยังมีสัดส่วนน้อยราว 10% เพราะคนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อแว่นกันแดดที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง และยังคงนิยมซื้อใช้ในช่องทางร้านค้าทั่วไป

............................................................................................................

หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,402 ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว